วันพุธที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2560

สารบัญ

อำนาจสอบสวนของพนักงานสอบสวน
              -  ดุลยพินิจพนักงานสอบสวนในการสืบหาพยานหลักฐาน
              -  การตรวจค้นจับกุมเป็นขั้นตอนแยกจากการสอบสวน
              -  การสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนซึ่งเป็นหญิง
              -  การทำความเห็นทางคดีของ พงส.ผทค.
              -  อำนาจการสอบสวนเมื่อมีการจัดตั้ง สภ. แห่งใหม่
              -  การสอบสวนเสร็จและการสอบสวนเพิ่มเติม
              -  อำนาจการสอบสวนโดยสมบูรณ์

เขตท้องที่กับอำนาจการสอบสวน
              -  สับสนเรื่องเขตพื้นที่รับผิดชอบ
              -  ท้องที่ที่ผู้ต้องหาถูกจับได้ก่อน

คดีอาญาที่เกี่ยวข้องกับอำนาจสอบสวน 
              -  คดีพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
              -  คดีลักทรัพย์และรับของโจร
              -  คดีหมิ่นประมาท เกิดนอกเขตอำนาจ
              -  คดีพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร
              -  คดีปลอมและใช้เอกสารปลอม

คดีที่เกี่ยวข้องกับอำนาจฟ้อง
              -  คดีความผิดนอกราชอาณาจักร
              -  อำนาจฟ้องผู้แทนนิติบุคคล

วันอาทิตย์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2560

ดุลยพินิจพนักงานสอบสวนในการสืบหาพยานหลักฐาน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3334/2558
ป.วิ.อ. ม. 158 (5)
             ป.วิ.อ. ม. 131 ถึง 134 ได้วางหลักเรื่องการสอบสวนคดีว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะสืบหาพยานหลักฐานมาประกอบในการดำเนินคดีตามที่ได้รับแจ้ง และ “เป็นดุลพินิจของพนักงานสอบสวน” ที่จะเรียกบุคคลใดมาเป็นพยานหรือหมายเรียกเอกสารที่เกี่ยวข้องมาเป็นพยานหรือไม่ก็ได้
             เมื่อคดีนี้พนักงานสอบสวนสอบปากคำและรวบรวมพยานหลักฐานแล้ว “มีความเห็นควรสั่งฟ้อง” จำเลยในข้อหาตามที่แจ้งข้อกล่าวหา เนื่องจากผู้เสียหายยืนยันว่าบุคคลที่ระบุไว้ในอีเมล์เข้าใจได้ว่าเป็นผู้เสียหาย แม้ไม่ได้สืบสวนพยานหลักฐานอื่นอีก “ก็เป็นดุลพินิจของพนักงานสอบสวนตามบทบัญญัติดังกล่าว” การสอบสวนคดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
            ส่วนการบรรยายฟ้องใน “ความผิดฐานหมิ่นประมาท” ตามที่จำเลยอ้างว่า โจทก์ต้องบรรยายให้จำเลยเข้าใจโดยชัดเจนว่าคำดังกล่าว คือ “นังมารร้าย นางมารร้าย นังยักษ์ขมูขี นางยักษ์ ชี” นั้นทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจได้ว่าหมายถึงตัวผู้เสียหาย
            เมื่อคดีนี้คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายถึงข้อความครบถ้วนตาม ป.วิ.อ. ม.158 (5) แล้ว อีกทั้งยังระบุข้อเท็จจริงและรายละเอียด พร้อมทั้งข้อความอันเกี่ยวกับข้อหาหมิ่นประมาท จึงเพียงพอที่จะทำให้จำเลยสามารถเข้าใจข้อหาได้ดี และบุคคลทั่วไปก็เข้าใจได้ว่าถ้อยคำและข้อความดังกล่าวหมายถึงผู้เสียหาย “จึงหาจำต้องบรรยายให้ชัดเจน” ตามที่จำเลยกล่าวอ้างไม่ ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. ม. 158 (5) แล้ว

การสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนซึ่งเป็นหญิง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3419/2559
ป.วิ.อ. มาตรา 133 การสอบสวนปากคำผู้เสียหาย
             จำเลยฎีกาว่าคดีนี้เป็นคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ การถามปากคำผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นหญิงในชั้นสอบสวนต้องให้พนักงานสอบสวนซึ่งเป็นหญิงเป็นผู้สอบสวน เว้นแต่ผู้เสียหายที่ 1 นั้นยินยอมหรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่น และให้บันทึกความยินยอมหรือเหตุจำเป็นนั้นไว้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 133 วรรคสี่ แต่พนักงานสอบสวนคดีนี้เป็นชายและไม่ได้มีบันทึกความยินยอมหรือเหตุจำเป็นนั้นไว้ จึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบและพนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง
             ศาลฎีกาวินิจฉัยฎีกาของจำเลยแล้วเห็นว่า การที่พนักงานสอบสวนคดีนี้ไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 133 วรรคสี่ แม้จะเป็นการไม่ชอบแต่ก็หามีผลทำให้การสอบสวนเสียไปทั้งหมดและถือเท่ากับไม่มีการสอบสวนในความผิดนั้นมาก่อนอันจะทำให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 ไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

วันอังคารที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2559

อำนาจการสอบสวนเมื่อมีการจัดตั้ง สภ. แห่งใหม่

อำนาจการสอบสวนเมื่อมีการจัดตั้ง สภ. แห่งใหม่ มีดังนี้
              ๑.  สภ. ที่มีการจัดตั้งสถานีขึ้นใหม่มีหัวหน้าสถานีใหม่เป็น ผกก. มีอำนาจการสอบสวนคดีอาญานับแต่วันที่มีการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจไปดำรงตำแหน่งเนื่องจาก สภ. ดังกล่าวมีเขตอำนาจความรับผิดชอบหรือเขตพื้นที่การปกครองแล้วตามประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดหน่วยงานและเขตอำนาจการรับผิดชอบหรือเขตพื้นที่การปกครองของส่วนราชการ ประกอบกับคำสั่ง ตร.ที่ ๕๓๗/๒๕๕๕ ลง ๒๗ ก.ย.๒๕๕๕  เรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ของตำแหน่งในสถานีตำรวจ  ข้อ ๕.๑ กำหนดหน้าที่ หัวหน้าสถานีตำรวจทำหน้าที่หัวหน้าพนักงานสอบสวน
              ๒. สภ. แห่งเดิม จึงไม่มีอำนาจทำการสอบสวนความผิดที่เกิด เชื่อว่า หรืออ้างว่าได้เกิด ในเขตพื้นที่ของ สภ. ที่มีการจัดตั้งสถานีขึ้นใหม่โดยเด็ดขาด ดังนั้น สภ. แห่งเดิมจึงต้องส่งมอบสำนวนการสอบสวนซึ่งความผิดได้เกิด เชื่อว่า หรืออ้างว่าได้เกิดขึ้นในเขตพื้นที่ของ สภ. ที่มีการจัดตั้งขึ้นใหม่ และยังสอบสวนไม่เสร็จสิ้นไปให้ สภ. ที่มีการจัดตั้งขึ้นใหม่โดยเร็วที่สุด เพื่อทำการสอบสวนต่อไป เพราะเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ เนื่องจาก หัวหน้าพนักงานสอบสวนเป็นคนละคนกัน พนักงานสอบสวนในท้องที่เดิมจึงไม่อาจสอบสวนในคดีนั้นได้อีกต่อไป และหัวหน้าสถานีตำรวจเดิมก็ไม่อาจมอบหมายให้ทำการสอบสวนข้ามเขตกันได้อีก
               ๓.  ส่วนความผิดที่ได้เกิด เชื่อว่า หรืออ้างว่าได้เกิดขึ้นมาใหม่ ก็ให้ สภ. ที่มีการจัดตั้งขึ้นใหม่เป็นผู้รับผิดชอบทำการสอบสวนต่อไป ดังนั้น พนักงานสอบสวน สภ.แห่งใหม่ จะต้องทำหน้าที่รับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษ และดำเนินคดีตามกฎหมายทันทีที่ได้รับแจ้งเหตุในเขตอำนาจการสอบสวนของตน เพราะถ้าความผิดไม่ได้เกิดในเขตอำนาจของตนแล้ว ย่อมเป็นผลให้พนักงานสอบสวนจะไม่มีอำนาจสอบสวน หากยังดำเนินการสอบสวนต่อไปก็จะเป็นเหตุให้การสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย
               ๔.  เนื่องจาก สภ. แห่งใหม่ อาจจะยังไม่พร้อมที่จะรับคดีและรับผิดชอบทำการสอบสวนได้โดยลำพัง ผบก.ภ.จว. ซึ่งมีอำนาจบังคับบัญชาพนักงานสอบสวนทุก สภ. ในเขตจังหวัด ย่อมมีอำนาจพิจารณามอบหมายหรือแต่งตั้งให้พนักงานสอบสวนในสังกัดไปปฏิบัติราชการและเข้าร่วมสอบสวนในคดีเดิมได้ แต่ต้องให้หัวหน้าสถานีตำรวจแห่งใหม่ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ เป็นผู้ทำความเห็นทางคดี
                ๕.   สถานีแห่งใหม่อาจจะขาดแคลนวัสดุอุปกรณ์ไม่เพียงพอ งบประมาณที่ขาดแคลนและยังไม่ได้รับการจัดสรร เป็นต้น ผบก.ภ.จว. ควรต้องให้การช่วยเหลือสนับสนุนจัดหาวัสดุครุภัณฑ์สำนักงาน ตลอดจนเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ให้เสร็จสิ้นโดยเร็วและสามารถปฏิบัติงานได้ทันที
                ๖.  หน่วยงานราชการอื่นตลอดจนประชาชน ที่ยังไม่รับทราบเรื่องการกำหนดหน่วยงานและเขตอำนาจการรับผิดชอบหรือเขตพื้นที่การปกครองของส่วนราชการ ตามประกาศ ตร. และจะสับสนในการเดินทางไปแจ้งความร้องทุกข์หรือกล่าวโทษ หรือไม่ได้รับความสะดวกในการมาติดต่อราชการ ดังนั้น ข้าราชการตำรวจทุกนายจึงควรประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบด้วย

อ้างอิง
-  หนังสือ ตร.ที่๐๐๓๑.๒๑๒/๔๗๓๓ ลง ๑๗ ต.ค.๒๕๕๐ เรื่อง การสอบสวนคดีอาญาของ สภ.ต. ที่มีการปรับระดับตำแหน่งหัวหน้าสถานีใหม่เป็น สว.

วันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2559

อำนาจฟ้องผู้แทนนิติบุคคล

             ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
             "มาตรา ๗  ในการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาคดีที่นิติบุคคลเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย ให้ออกหมายเรียกผู้จัดการหรือผู้แทนอื่น ๆ ของนิติบุคคลนั้น ให้ไปยังพนักงานสอบสวนหรือศาล แล้วแต่กรณี
             ถ้าผู้จัดการหรือผู้แทนของนิติบุคคลนั้นไม่ปฏิบัติตามหมายเรียก จะออกหมายจับผู้นั้นมาก็ได้ แต่ห้ามมิให้ใช้บทบัญญัติว่าด้วยปล่อยชั่วคราว ขังหรือจำคุกแก่ผู้จัดการหรือผู้แทนนิติบุคคล ในคดีที่นิติบุคคลนั้นเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย"

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4205/2541
ป.วิ.อ. มาตรา 7, 120
             ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 7 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ในการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาคดีที่นิติบุคคลเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย ให้ออกหมายเรียกผู้จัดการหรือผู้แทนอื่น ๆ ของนิติบุคคลนั้น ให้ไปยังพนักงานสอบสวนหรือศาล แล้วแต่กรณี คำว่า “ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นของนิติบุคคล” ตามบทบัญญัติดังกล่าวนั้น ย่อมหมายถึง ผู้ที่มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลนั้นตามกฎหมาย เช่น กรรมการผู้จัดการของบริษัท
             พนักงานสอบสวนทำการสอบสวน ก. กรรมการคนหนึ่งของบริษัทจำเลย ในฐานะตัวแทนบริษัทจำเลย โดยมิได้สอบสวน อ. กรรมการผู้จัดการและผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลย และตามบันทึกคำให้การของ ก. มีข้อความว่า ก. ไม่ขอให้การชั้นสอบสวนจะไปให้การในชั้นศาล และยังให้การว่า ก. เป็นกรรมการบริษัทจำเลย แต่ ก. ไม่มีอำนาจลงชื่อในการทำนิติกรรมของบริษัทจำเลย ทั้งไม่ปรากฏว่า บริษัทจำเลยมอบอำนาจให้ ก. กระทำการแทนบริษัทจำเลยเกี่ยวกับคดีอาญานี้ได้
            ดังนี้ พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจสอบสวน ก. ในฐานะตัวแทนบริษัทจำเลยเกี่ยวกับคดีอาญาคดีนี้ กรณีย่อมถือไม่ได้ว่ามีการสอบสวนบริษัทจำเลยโดยชอบ พนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องบริษัทจำเลยเป็นคดีนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  556/2530
ป.พ.พ. มาตรา 76
ป.วิ.อ. มาตรา 192
พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522
            นมข้นหวานที่จำเลยผลิตขึ้นมีจุลินทรีย์หรือบักเตรี เกินกว่าจำนวนตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข จึงเป็นอาหารที่ผลิตขึ้น โดยไม่ถูกต้องตามคุณภาพหรือมาตรฐาน ส่วนจะถึงขั้นเป็นอาหารปลอมหรือไม่ ต้องเป็นอาหารที่ทำให้เกิดโทษหรือเป็นอันตราย จุลินทรีย์หรือบักเตรีนั้นมีทั้งชนิดที่ทำให้เกิดโทษและชนิดที่ไม่เป็นโทษ
            เมื่อโจทก์ไม่นำสืบให้เห็นว่า การมีจุลินทรีย์หรือบักเตรีเกินจำนวนที่ระบุไว้เป็นโทษหรือเป็นอันตราย นมข้นหวานดังกล่าวจึงมิใช่อาหารปลอม ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 25 (2) ประกอบด้วยมาตรา 27 (5) แต่การมีจุลินทรีย์หรือบักเตรีเกินจำนวนดังกล่าวเป็นอาหารผิดมาตรฐานตามมาตรา 25 (3) ประกอบด้วยมาตรา 28 ศาลจึงมีอำนาจลงโทษฐานนี้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 เพราะเป็นบทที่มีโทษเบากว่าที่โจทก์ฟ้อง
            จำเลยที่ 2 รับว่าได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2523 และเป็นตลอดมาจนเกิดเหตุคดีนี้ เห็นว่า บริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นเพียงบุคคลสมมุติโดยอาศัยอำนาจของกฎหมายเท่านั้นดำเนินหรือปฏิบัติงานตามวัตถุประสงค์ของบริษัทด้วยตนเองไม่ได้ ต้องกระทำโดยผู้แทนจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทจำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินหรือปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า บริษัทจำเลยที่ 1 กระทำผิด ก็ได้ชื่อว่าเป็นการกระทำของจำเลยที่ 2 ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  63/2517
ป.อ. มาตรา 83
พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 มาตรา 3
ป.พ.พ. มาตรา 75
              บริษัทจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยที่ 1 มีอำนาจลงชื่อแทนจำเลยที่ 1  เมื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้แทนของบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ออกเช็ค สั่งจ่ายเงินหนึ่งหมื่นบาทในนามของจำเลยที่ 1 มอบให้โจทก์ไว้เป็นการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1
              การดำเนินกิจการของบริษัทซึ่งเป็นนิติบุคคล ย่อมแสดงออกโดยทางผู้แทนทั้งหลายของบริษัท เมื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้แทนของบริษัทจำเลยที่ 1 ได้เซ็นเช็คสั่งจ่ายเงินโดยเจตนาจะมิให้มีการใช้เงินตามเช็ค อันเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้องแล้ว ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ออกเช็ครายนี้ และมีความผิดฐานเป็นตัวการด้วย