วันพฤหัสบดีที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2557

การสอบสวนเสร็จและการสอบสวนเพิ่มเติม

เรื่องเสร็จที่ ๗๖๖/๒๕๔๖  (โดยย่อ)
บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
เรื่อง หารือเกี่ยวกับอำนาจสอบสวนเพิ่มเติมของพนักงานสอบสวน

               เมื่อพนักงานสอบสวนสรุปสำนวนการสอบสวนและมีความเห็นควรสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องตามมาตรา ๑๔๐  มาตรา ๑๔๑ หรือ มาตรา ๑๔๒  และส่งให้พนักงานอัยการแล้ว พนักงานสอบสวนย่อมหมดอำนาจที่จะทำการสอบสวนเพิ่มเติมในคดีนั้นอีก แม้ต่อมาในภายหลังจะได้พยานหลักฐานที่เป็นประโยชน์ต่อรูปคดีก็ตาม
              ทั้งนี้ เพราะบทบัญญัติในวรรคสามของมาตรา ๑๔๑ และ มาตรา ๑๔๓ (๒) (ก) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ไม่ได้ให้อำนาจพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติม เว้นแต่พนักงานอัยการจะสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติม ประกอบกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๙/๒๔๘๑ ก็วินิจฉัยว่า เมื่อพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเสร็จ และได้ส่งสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการแล้ว พนักงานสอบสวนย่อมหมดอำนาจที่จะทำการสอบสวนคดีต่อไป เพราะหากให้พนักงานสอบสวนเข้าเกี่ยวข้องโดยลำพังได้ต่อไป อาจทำให้เสียหายแก่คดี โดยพนักงานอัยการผู้รับผิดชอบมิได้รู้เห็นตามควรแก่หน้าที่
             คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑๑) จึงเห็นว่า พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจสอบสวนเพิ่มเติมภายหลังจากที่ได้ส่งสำนวนการสอบสวนให้แก่พนักงานอัยการแล้ว เพราะพนักงานสอบสวนหมดอำนาจที่จะทำการสอบสวนคดีต่อไป
             ส่วนการแจ้งข้อหาและการสอบสวนผู้ต้องหาที่จับได้ในภายหลังนั้น พนักงานสอบสวนจะต้องดำเนินการตามมาตรา ๑๓๔ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยเมื่อพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาแล้ว ให้ส่งบันทึกการแจ้งข้อหาไปยังพนักงานอัยการโดยไม่ต้องทำความเห็นอีก
             ในกรณีที่มีคำสั่งไม่ฟ้อง และคำสั่งนั้นไม่ใช่ของอัยการสูงสุด ถ้าในกรุงเทพมหานคร ให้รีบส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมคำสั่งเสนอผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ถ้าในจังหวัดอื่น ให้รีบส่งสำนวนพร้อมกับคำสั่งเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วแต่กรณี ในกรณีบุคคลดังกล่าวแย้งคำสั่งของพนักงานอัยการ ให้ส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมความเห็นที่แย้งกันไปยังพนักงานอัยการสูงสุดเพื่อชี้ขาด แต่ถ้าคดีจะขาดอายุความหรือมีเหตุอย่างอื่นอันจำเป็นจะต้องรีบฟ้อง ก็ให้ฟ้องคดีนั้นตามความเห็นแย้งนั้นไปก่อน
             คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑๑) จึงเห็นว่า กรณีที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาแล้วส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมคำสั่งเสนอผู้บัญชาการตำรวจ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วแต่กรณี เพื่อทำความเห็นแย้งตามมาตรา ๑๔๕ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือ มาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.๒๔๙๙  ผู้บัญชาการตำรวจ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วแต่กรณี ไม่มีอำนาจสอบสวนเพิ่มเติม หรือสั่งให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีดังกล่าวสอบสวนเพิ่มเติมได้อีก
(*หมายเหตุ.- ปัจจุบันแก้ไขจากผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้บัญชาการตำรวจหรือรองผู้บัญชาการตำรวจ ตามประกาศ คสช.ที่ ๑๑๕/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๑ ก.ค.๒๕๕๗)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๙/๒๔๘๑
พ.ร.บ.ลักษณะพะยาน ร.ศ.๑๑๓ มาตรา ๕๑
ป.วิ.อ. มาตรา ๑๓๓ , ๑๔๐ , ๑๔๑ , ๑๔๒, ๑๔๓
            ได้ความว่าพนักงานสอบสวนได้หมายเรียกจำเลยมาให้การเป็นพะยานในคดีอาญาเรื่อง บ. ต้องหา ฐานใช้ให้เขากระทำผิดฐานฆ่าคนตาย จำเลยมาตามหมาย แต่ไม่ยอมให้การ โจทก์จึงฟ้องขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณพะยาน ร.ศ.๑๑๓ ม.๕๑
            ข้อเท็จจริงที่รับกันมีว่าเรื่อง บ.ต้องหานี้ พนักงานสอบสวนได้สอบสวนเสร็จและส่งไปให้อัยยการฟ้อง บ. แล้ว
            ศาลฎีกาตัดสินยืนตามศาลอุทธรณ์ว่า เมื่อการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้วและสำนวนการสอบสวนก็ส่งไปยังพนักงานอัยยการแล้วหน้าที่ของพนักงานสอบสวนก็สุดสิ้นลง ตกเป็นหน้าที่ของพนักงานอัยยการต่อไป และพนักงานสอบสวนจะดำเนินการสอบสวนโดยพนักงานอัยยการผู้รับผิดชอบมิได้รู้เห็นด้วยมิได้ เมื่อพนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจสอบสวนต่อไปดังนี้ การที่จำเลยไม่ยอมให้การจึงไม่มีความผิด จึงไม่จำเป็นวินิจฉัยถึงปัญหาอื่นต่อไป พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์

วันพุธที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2557

คดีความผิดนอกราชอาณาจักร

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
             "มาตรา ๒๐  ถ้าความผิดซึ่งมีโทษตามกฎหมายไทยได้กระทำลงนอกราชอาณาจักรไทย ให้อัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบหรือจะมอบหมายหน้าที่นั้น ให้พนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนคนใดเป็นผู้รับผิดชอบทำการสอบสวนแทนก็ได้
             ในกรณีที่อัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนมอบหมายให้พนักงานสอบสวนคนใดเป็นผู้รับผิดชอบทำการสอบสวน อัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนจะมอบหมายให้พนักงานอัยการคนใดทำการสอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวนก็ได้
             ให้พนักงานอัยการที่ได้รับมอบหมายให้เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบหรือให้ทำการสอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวนมีอำนาจและหน้าที่ในการสอบสวนเช่นเดียวกับพนักงานสอบสวนบรรดาอำนาจและหน้าที่ประการอื่นที่กฎหมายบัญญัติไว้ให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของพนักงานอัยการ
             ในกรณีที่พนักงานอัยการทำการสอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนปฏิบัติตามคำสั่งและคำแนะนำของพนักงานอัยการในเรื่องที่เกี่ยวกับการรวบรวมพยานหลักฐาน
             ในกรณีจำเป็น พนักงานสอบสวนต่อไปนี้มีอำนาจสอบสวนในระหว่างรอคำสั่งจากอัยการสูงสุด หรือผู้รักษาการแทน
                 (๑) พนักงานสอบสวนซึ่งผู้ต้องหาถูกจับในเขตอำนาจ
                 (๒) พนักงานสอบสวนซึ่งรัฐบาลประเทศอื่นหรือบุคคลที่ได้รับความเสียหายได้ร้องฟ้องให้ทำโทษผู้ต้องหา
              เมื่อพนักงานอัยการ หรือพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวน แล้วแต่กรณี เห็นว่าการสอบสวนเสร็จแล้ว ให้ทำความเห็นตามมาตรา ๑๔๐ มาตรา ๑๔๑ หรือมาตรา ๑๔๒ ส่งพร้อมสำนวนไปยังอัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทน"

ประมวลกฎหมายอาญา
             "มาตรา ๔  ผู้ใดกระทำความผิดในราชอาณาจักร ต้องรับโทษตามกฎหมาย
              การกระทำความผิดในเรือไทยหรืออากาศยานไทย ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใด ให้ถือว่ากระทำความผิดในราชอาณาจักร" (วรรคสอง อยู่ภายใต้ ป.วิ.อ. มาตรา ๒๐)
             "มาตรา ๕  ความผิดใดที่การกระทำ แม้แต่ส่วนหนึ่งส่วนใดได้กระทำในราชอาณาจักรก็ดี ผลแห่งการกระทำเกิดในราชอาณาจักรโดยผู้กระทำประสงค์ให้ผลนั้นเกิดในราชอาณาจักร หรือโดยลักษณะแห่งการกระทำ ผลที่เกิดขึ้นควรเกิดในราชอาณาจักรหรือย่อมจะเล็งเห็นได้ว่าผลนั้นจะเกิดในราชอาณาจักรก็ดี ให้ถือว่าความผิดนั้นได้กระทำในราชอาณาจักร
              ในกรณีการตระเตรียมการ หรือพยายามกระทำการใดซึ่งกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด แม้การกระทำนั้นจะได้กระทำนอกราชอาณาจักร ถ้าหากการกระทำนั้นจะได้กระทำตลอดไปจนถึงขั้นความผิดสำเร็จ ผลจะเกิดขึ้นในราชอาณาจักร ให้ถือว่า การตระเตรียมการหรือพยายามกระทำความผิดนั้นได้กระทำในราชอาณาจักร"
             "มาตรา ๖  ความผิดใดที่ได้กระทำในราชอาณาจักร หรือที่ประมวลกฎหมายนี้ถือว่าได้กระทำในราชอาณาจักร แม้การกระทำของผู้เป็นตัวการด้วยกัน ของผู้สนับสนุน หรือของผู้ใช้ให้กระทำความผิดนั้นจะได้กระทำนอกราชอาณาจักร ก็ให้ถือว่าตัวการ ผู้สนับสนุน หรือผู้ใช้ให้กระทำได้กระทำในราชอาณาจักร"
             "มาตรา ๗  ผู้ใดกระทำความผิดดังระบุไว้ต่อไปนี้นอกราชอาณาจักร จะต้องรับโทษในราชอาณาจักร คือ
                          (๑) ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๐๗ ถึงมาตรา ๑๒๙ (๑/๑) ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓๕/๑ มาตรา ๑๓๕/๒ มาตรา ๑๓๕/๓ และมาตรา ๑๓๕/๔
                          (๒) ความผิดเกี่ยวกับการปลอมและการแปลง ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๔๐ ถึงมาตรา ๒๔๙ มาตรา ๒๕๔ มาตรา ๒๕๖ มาตรา ๒๕๗ และมาตรา ๒๖๖ (๓) และ (๔) (๒ ทวิ) ความผิดเกี่ยวกับเพศตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๘๒ และมาตรา ๒๘๓
                          (๓) ความผิดฐานชิงทรัพย์ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๓๙ และความผิดฐานปล้นทรัพย์ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๔๐ ซึ่งได้กระทำในทะเลหลวง"

วันเสาร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2557

การทำความเห็นทางคดีของ พงส.ผทค.

กรณีพนักงานสอบสวนผู้ทรงคุณวุฒิ ทำความเห็นทางคดีโดยปฏิบัติราชการแทน ผกก.สน.
ตามหนังสือ ตร ที่ ๐๐๑๑.๒๔/๒๘๔๘ ลง ๒๙ ส.ค.๒๕๕๗

              ตร. ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า อำนาจในการทำความเห็นทางคดีเป็นเรื่องเฉพาะตัวซึ่งกฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะไม่อาจมอบหมายให้ผู้อื่นปฏิบัติหน้าที่แทนกันได้
              เว้นแต่ ในกรณีเป็นผู้รักษาราชการในตำแหน่ง หรือรักษาราชการแทน ย่อมสามารถทำความเห็นทางคดีได้
              ทั้งนี้ เป็นไปตามระเบียบ ตร. ว่าด้วยอำนาจการทำความเห็นทางคดีของตำรวจนครบาล (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๔๓ ซึ่งวางระเบียบไว้ในประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี ลักษณะ ๘ การสอบสวน บทที่ ๑๒ อำนาจการทำความเห็นทางคดีของตำรวจนครบาล ข้อ ๒๗๖ การสอบสวนคดีอาญาของ บช.น. (๑) อำนาจการทำความเห็นทางคดี (๑.๒) และได้กำหนดอัตราโทษไว้แล้ว ให้ ผกก. หรือ รอง กก.หน.สน. หรือผู้รักษาการในตำแหน่ง ผู้รักษาราชการแทน มีอำนาจทำความเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง
              ประกอบกับ ตร. มีคำสั่งที่ ๔๑๙/๒๕๕๖ ลง ๑ ก.ค.๒๕๕๖ เรื่องการอำนวยความยุติธรรมในคดีอาญา การทำสำนวนการสอบสวนและมาตรการควบคุม ตรวจสอบ เร่งรัดการสอบสวนคดีอาญา ข้อ ๒.๕.๑  หัวหน้าสถานีตำรวจ หัวหน้าหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวน หรือผู้รักษาราชการแทน ที่มีอำนาจสอบสวนความผิดอาญา เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน ตามมาตรา ๑๘ วรรคสี่ และมาตรา ๑๔๐ แห่ง ป.วิ.อ. ไว้โดยชัดแจ้ง
             กรณีปรากฏว่าพนักงานสอบสวนผู้ทรงคุณวุฒิ ทำความเห็นทางคดีในฐานะปฏิบัติราชการแทน หรือ ปรท.ผกก.สน. โดยไม่ได้ทำความเห็นทางคดีในฐานะรักษาราชการแทนหรือ รรท.ผกก.สน.  จึงเป็นการทำความเห็นโดยไม่มีอำนาจ เมื่อได้ทำความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาไว้ในสำนวน จึงไม่ถือเป็นการกระทำในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๘ วรรคสี่ , มาตรา ๑๔๐ ที่บัญญัติไว้
             กรณีจึงเป็นการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องและไม่มีอำนาจกระทำได้ ส่งผลให้การทำความเห็นทางคดี เห็นควรสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาในสำนวนไม่มีผลตามกฎหมาย เท่ากับสำนวนการสอบสวนคดีดังกล่าวผู้มีอำนาจทำความเห็นทางคดีของพนักงานสอบสวนตามกฎหมายยังไม่ได้มีความเห็นทางคดีกับผู้ต้องหานั้น ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๔๒ ที่บัญญัติไว้  อันจะทำให้พนักงานอัยการอาศัยอำนาจตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๔๓ ในการทำความเห็นสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องแล้วแต่กรณีเพื่อมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดกับผู้ต้องหาได้
             ดังนั้น การที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา เสนอสำนวนไปยัง ผบ.ตร. เพื่อให้พิจารณาตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๔๕ จึงไม่มีผลตามกฎหมายเช่นเดียวกัน ทำให้ไม่อาจพิจารณาทำความเห็นทางคดีอย่างหนึ่งอย่างใดได้
             นอกจากนี้ ยังตรวจพบว่ามีพนักงานสอบสวนผู้ทรงคุณวุฒิ บาง สน. ได้ทำความเห็นทางคดีแทน ผกก.สน. ในฐานะ รรท.  อีกหลายสำนวน แต่ในสำนวนไม่ปรากฏคำสั่งหรือหลักฐานหนังสือที่ระบุให้พนักงานสอบสวนผู้นั้นรักษาราชการแทน หรือ "รรท." รวมอยู่ในสำนวนการสอบสวน ทำให้เกิดข้อเคลือบแคลงสงสัยในประเด็นเรื่องอำนาจการทำความเห็นทางคดีขึ้นได้
             ฉะนั้น จึงกำชับการปฏิบัติของพนักงานสอบสวนเกี่ยวกับการทำความเห็นทางคดีในสำนวนการสอบสวนทุกสำนวน ให้เสนอผู้มีอำนาจในการทำความเห็นทางคดีตามระเบียบและคำสั่ง ตร.ที่กำหนดไว้โดยเคร่งครัด หากมีกรณีผู้ที่ทำความเห็นทางคดีมิใช่ ผกก.สน. หรือ หน.สน.  แต่ทำความเห็นทางคดีในฐานะรักษาราชการแทน "รรท." ในสำนวนใด ให้แนบหลักฐานคำสั่งหรือหนังสือที่ระบุให้รักษาราชการแทน หรือ "รรท." รวมไว้ในสำนวนทุกสำนวนด้วย หากตรวจพบว่าพนักงานสอบสวนนายใดยังฝ่าฝืนไม่ถือปฏิบัติตาม จะพิจารณาข้อบกพร่องในกรณีดังกล่าวต่อไป