กรณีพนักงานสอบสวนผู้ทรงคุณวุฒิ ทำความเห็นทางคดีโดยปฏิบัติราชการแทน ผกก.สน.
ตามหนังสือ ตร ที่ ๐๐๑๑.๒๔/๒๘๔๘ ลง ๒๙ ส.ค.๒๕๕๗
ตร. ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า อำนาจในการทำความเห็นทางคดีเป็นเรื่องเฉพาะตัวซึ่งกฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะไม่อาจมอบหมายให้ผู้อื่นปฏิบัติหน้าที่แทนกันได้
เว้นแต่ ในกรณีเป็นผู้รักษาราชการในตำแหน่ง หรือรักษาราชการแทน ย่อมสามารถทำความเห็นทางคดีได้
ทั้งนี้ เป็นไปตามระเบียบ ตร. ว่าด้วยอำนาจการทำความเห็นทางคดีของตำรวจนครบาล (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๔๓ ซึ่งวางระเบียบไว้ในประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี ลักษณะ ๘ การสอบสวน บทที่ ๑๒ อำนาจการทำความเห็นทางคดีของตำรวจนครบาล ข้อ ๒๗๖ การสอบสวนคดีอาญาของ บช.น. (๑) อำนาจการทำความเห็นทางคดี (๑.๒) และได้กำหนดอัตราโทษไว้แล้ว ให้ ผกก. หรือ รอง กก.หน.สน. หรือผู้รักษาการในตำแหน่ง ผู้รักษาราชการแทน มีอำนาจทำความเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง
ประกอบกับ ตร. มีคำสั่งที่ ๔๑๙/๒๕๕๖ ลง ๑ ก.ค.๒๕๕๖ เรื่องการอำนวยความยุติธรรมในคดีอาญา การทำสำนวนการสอบสวนและมาตรการควบคุม ตรวจสอบ เร่งรัดการสอบสวนคดีอาญา ข้อ ๒.๕.๑ หัวหน้าสถานีตำรวจ หัวหน้าหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวน หรือผู้รักษาราชการแทน ที่มีอำนาจสอบสวนความผิดอาญา เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน ตามมาตรา ๑๘ วรรคสี่ และมาตรา ๑๔๐ แห่ง ป.วิ.อ. ไว้โดยชัดแจ้ง
กรณีปรากฏว่าพนักงานสอบสวนผู้ทรงคุณวุฒิ ทำความเห็นทางคดีในฐานะปฏิบัติราชการแทน หรือ ปรท.ผกก.สน. โดยไม่ได้ทำความเห็นทางคดีในฐานะรักษาราชการแทนหรือ รรท.ผกก.สน. จึงเป็นการทำความเห็นโดยไม่มีอำนาจ เมื่อได้ทำความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาไว้ในสำนวน จึงไม่ถือเป็นการกระทำในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๘ วรรคสี่ , มาตรา ๑๔๐ ที่บัญญัติไว้
กรณีจึงเป็นการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องและไม่มีอำนาจกระทำได้ ส่งผลให้การทำความเห็นทางคดี เห็นควรสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาในสำนวนไม่มีผลตามกฎหมาย เท่ากับสำนวนการสอบสวนคดีดังกล่าวผู้มีอำนาจทำความเห็นทางคดีของพนักงานสอบสวนตามกฎหมายยังไม่ได้มีความเห็นทางคดีกับผู้ต้องหานั้น ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๔๒ ที่บัญญัติไว้ อันจะทำให้พนักงานอัยการอาศัยอำนาจตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๔๓ ในการทำความเห็นสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องแล้วแต่กรณีเพื่อมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดกับผู้ต้องหาได้
ดังนั้น การที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา เสนอสำนวนไปยัง ผบ.ตร. เพื่อให้พิจารณาตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๔๕ จึงไม่มีผลตามกฎหมายเช่นเดียวกัน ทำให้ไม่อาจพิจารณาทำความเห็นทางคดีอย่างหนึ่งอย่างใดได้
นอกจากนี้ ยังตรวจพบว่ามีพนักงานสอบสวนผู้ทรงคุณวุฒิ บาง สน. ได้ทำความเห็นทางคดีแทน ผกก.สน. ในฐานะ รรท. อีกหลายสำนวน แต่ในสำนวนไม่ปรากฏคำสั่งหรือหลักฐานหนังสือที่ระบุให้พนักงานสอบสวนผู้นั้นรักษาราชการแทน หรือ "รรท." รวมอยู่ในสำนวนการสอบสวน ทำให้เกิดข้อเคลือบแคลงสงสัยในประเด็นเรื่องอำนาจการทำความเห็นทางคดีขึ้นได้
ฉะนั้น จึงกำชับการปฏิบัติของพนักงานสอบสวนเกี่ยวกับการทำความเห็นทางคดีในสำนวนการสอบสวนทุกสำนวน ให้เสนอผู้มีอำนาจในการทำความเห็นทางคดีตามระเบียบและคำสั่ง ตร.ที่กำหนดไว้โดยเคร่งครัด หากมีกรณีผู้ที่ทำความเห็นทางคดีมิใช่ ผกก.สน. หรือ หน.สน. แต่ทำความเห็นทางคดีในฐานะรักษาราชการแทน "รรท." ในสำนวนใด ให้แนบหลักฐานคำสั่งหรือหนังสือที่ระบุให้รักษาราชการแทน หรือ "รรท." รวมไว้ในสำนวนทุกสำนวนด้วย หากตรวจพบว่าพนักงานสอบสวนนายใดยังฝ่าฝืนไม่ถือปฏิบัติตาม จะพิจารณาข้อบกพร่องในกรณีดังกล่าวต่อไป