วันเสาร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2557

คดีลักทรัพย์และรับของโจร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๒๔๕๕/๒๕๕๐
ป.วิ.อ. มาตรา ๒๔
                แม้ความผิดฐานลักทรัพย์กับความผิดฐานรับของโจรเกิดขึ้นต่างท้องที่กัน คือ จังหวัดราชบุรี และจังหวัดนครปฐม แต่ทรัพย์ที่ถูกลักกับรับของโจรนั้นเป็นทรัพย์สิ่งเดียวกัน คือ รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย โดยถูกลักไปจากท้องที่หนึ่งแล้วนำไปจำหน่ายให้แก่ผู้รับของโจรในอีกท้องที่หนึ่ง จึงเป็นความผิดหลายฐานเกี่ยวพันกัน โดยมีผู้กระทำความผิดหลายคน มีทั้งที่เป็นตัวการลักทรัพย์ ผู้สมรู้และผู้รับของโจรตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒๔ (๑)
                ดังนั้น ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยรับจำนำรถจักรยานยนต์ดังกล่าวจาก ท. ไม่ได้เกี่ยวข้องกับที่ บ. ลักรถจักรยานยนต์และไม่ได้เกี่ยวข้องกับชายไม่ทราบชื่อที่ซื้อรถจักรยานยนต์จาก บ. ที่จังหวัดสมุทรสาคร คดีจึงไม่มีเหตุการณ์ต่อเนื่องหรือเกี่ยวพันกันดังที่จำเลยฎีกานั้น ย่อมฟังไม่ขึ้น และความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนมีอัตราโทษสูงกว่าฐานรับของโจร ดังนั้น โจทก์จึงฟ้องจำเลยในความผิดฐานรับของโจรต่อศาลชั้นต้นที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีความผิดฐานลักทรัพย์ในเหตุฉกรรจ์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒๔ วรรคหนึ่ง โจทก์ไม่ได้ฟ้องจำเลยผิดศาลดังที่จำเลยฎีกา

คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๕๗๙/๒๕๔๖
ป.วิ.อ. ม.๑๙
              รถยนต์หายไปจากท้องที่ของ สภ.เมืองสมุทรสาคร ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยกับพวกได้พร้อมรถยนต์ที่หายไปในท้องที่ของ สภ.ลาดบัวหลวงในข้อหาซ่องโจร ความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรรถยนต์จึงเป็นความผิดต่อเนื่อง ซึ่งกระทำต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไป ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๙ วรรคหนึ่ง (๓) พนักงานสอบสวน สภ.เมืองสมุทรสาคร จึงมีอำนาจสอบสวนในความผิดฐานลักทรัพย์ หรือรับของโจรได้ เพราะเป็นสถานีตำรวจในท้องที่ที่เกี่ยวข้องกับความผิดดังกล่าว
              เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยกับพวกได้พร้อมรถยนต์ในท้องที่ สภ.ลาดบัวหลวง ในข้อหาซ่องโจร ซึ่งเป็นความผิดคนละข้อหากับความผิดที่พนักงานสอบสวน สภ.เมืองสมุทรสาคร ทำการสอบสวน และเจ้าพนักงานตำรวจ สภ.ลาดบัวหลวง คงควบคุมตัวจำเลยกับพวกไว้ในข้อหาซ่องโจรเท่านั้น เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจ สภ.ลาดบัวหลวง ไม่ได้จับกุมและกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสี่กับพวกกระทำความผิดลักทรัพย์หรือรับของโจรรถยนต์ที่หายไป จึงถือไม่ได้ว่าเจ้าพนักงานตำรวจ สภ.ลาดบัวหลวง จับกุมจำเลยกับพวกในความผิดลักทรัพย์หรือรับของโจรได้แล้วตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๙ วรรคสอง (ก) ดังนั้น พนักงานสอบสวน สภ.ลาดบัวหลวง จึงไม่ใช่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในข้อหาลักทรัพย์หรือรับของโจร
            พนักงานสอบสวนในท้องที่ที่พบการกระทำผิดอยู่ก่อน และเริ่มสอบสวนตั้งแต่ ยังจับตัวจำเลยไม่ได้ แม้ภายหลังจะปรากฏว่าจำเลยถูกจับกุมที่ท้องที่อื่นก็ตาม ก็หาทำให้พ้นจากการเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบไปไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๘๔๘๑/๒๕๔๔
ป.อ. มาตรา ๓๕๗
ป.วิ.อ. มาตรา ๑๔๕ , ๑๔๖ , ๑๔๗
             แม้พนักงานสอบสวนกองปราบปรามจะเคยมีความเห็นว่าไม่ควรดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสี่ แต่ความเห็นของพนักงานสอบสวนกองปราบปรามดังกล่าวยังไม่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๔๕ และมาตรา ๑๔๖ ดังนั้น จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา ๑๔๗ ที่ห้ามมิให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับบุคคลนั้นในเรื่องเดียวกันนั้นอีกเว้นแต่จะได้พยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดีซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหานั้นได้
            จำเลยที่ ๔ มีอาชีพเป็นพ่อค้าขายเครื่องประดับประเภทเพชร พลอย เงิน ทอง นาก และนาฬิกา ได้รับใบอนุญาตให้ค้าของเก่าจำเลยที่ ๔ ซื้อทรัพย์สินของกลางทั้ง ๑๖ รายการมาจากจำเลยที่ 3เป็นมูลค่านับสิบล้านบาท แสดงว่าจำเลยที่ ๔ ย่อมทราบดีว่าทรัพย์สินของกลางทั้ง ๑๖ รายการเป็นทรัพย์สินที่มีราคาสูงและหาซื้อไม่ได้ในท้องตลาดทั่วไป และย่อมทราบดีว่าทรัพย์สินของกลางได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย พฤติการณ์น่าเชื่อว่าจำเลยที่ ๔ ทราบว่าทรัพย์สินของกลางเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๗ วรรคแรก

คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๐๔/๒๕๔๒
ป.วิ.อ.  มาตรา ๑๒๐
              จำเลยที่ ๓ กระทำความผิดฐานยักยอกทรัพย์รถจักรยานยนต์ในเขตท้องที่ สภ.เมืองอ่างทอง และการที่จำเลยทั้งสามร่วมกันบรรทุกรถจักรยานยนต์ ๒ คัน ของกลางบนรถกระบะเดินทางมาเขตอำเภอกบินทร์บุรี เพื่อที่จะนำไปจำหน่ายยังประเทศเขมรนั้น เป็นการกระทำผิดฐานรับของโจรต่อเนื่องกันและกระทำต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไปตาม มาตรา ๑๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่ง ป.วิ.อ.
              ดังนั้น ร้อยตำรวจเอก อ. พนักงานสอบสวน สภ.เมืองอ่างทอง ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนในท้องที่ที่เกี่ยวข้องกับเหตุที่เกิด ทั้งยังมีเจ้าพนักงานตำรวจ สภ.เมืองอ่างทอง เป็นผู้ร่วมจับกุมจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ กับพวกในท้องที่อำเภอกบินทร์บุรีด้วย ร้อยตำรวจเอก อ. จึงเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวนแล้ว เข้ากรณีตามมาตรา ๑๙ วรรคสาม (ข) เพราะเป็นพนักงานสอบสวนในท้องที่ที่พบการกระทำผิดอยู่ก่อน โดยเริ่มสอบสวนตั้งแต่ยังจับตัวจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ กับพวกไม่ได้ แม้ภายหลังจะปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ กับพวก ถูกจับกุมที่ท้องที่อำเภอกบินทร์บุรีก็ตาม ก็หาทำให้ร้อยตำรวจเอก อ. พ้นจากการเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบไปไม่ เมื่อเป็นเช่นนี้ พนักงานอัยการจังหวัดอ่างทองโจทก์ จึงฟ้อง จำเลยที่ ๑ และ ที่ ๒ กับพวกได้ โดยถือว่ามีการสอบสวนโดยชอบแล้ว ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๒๐

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๗๙๐/๒๕๔๑
ป.วิ.อ. มาตรา ๑๙ (๓), ๑๒๐
            รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายถูกลักไปในท้องที่ สน. บางขุนเทียน ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจยึดรถจักรยานยนต์ดังกล่าวได้จากบ้านของจำเลยซึ่งอยู่ในเขตท้องที่ สภ.เมืองสมุทรสาคร ดังนี้ แม้ความผิดฐานลักทรัพย์กับความผิดฐานรับของโจรเกิดขึ้นต่างท้องที่กันก็ตาม แต่ก็เป็นความผิดต่อเนื่องกันพนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องย่อมมีอำนาจสอบสวนได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙ (๓)
            พนักงานสอบสวน สน.บางขุนเทียน ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนคดีนี้ จึงมีอำนาจสอบสวนความผิดอาญาที่เกิดขึ้นกับทรัพย์ของผู้เสียหายได้ ไม่ว่าจะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร และแม้ว่าจะยึดรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายและจับจำเลยได้พร้อมกันที่บ้านของจำเลยซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของพนักงานสอบสวน สภ.เมืองสมุทรสาคร ก็ตามก็ไม่ทำให้อำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวน สน.บางขุนเทียนหมดสิ้นไป จึงถือว่ามีการสอบสวน ในความผิดฐานรับของโจรโดยชอบแล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกา ๑๑๘๐/๒๕๓๗
            เมื่อการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์เกิดที่อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี แม้ความผิดฐานรับของโจรจะเกิดที่อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี แต่ก็เป็นความผิดที่ได้กระทำต่อเนื่องกัน พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอไทรโยคจึงมีอำนาจสอบสวนจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ในข้อหารับของโจรได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙ และเมื่อพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอไทรโยค ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดกาญจนบุรี โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ต่อศาลจังหวัดกาญจนบุรี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๙๐๓/๒๕๓๑
ป.วิ.อ. มาตรา ๑๙ , ๒๔
              แม้ความผิดฐานปล้นทรัพย์กับความผิดฐานรับของโจรเกิดขึ้นต่างท้องที่กันก็ตาม แต่ก็เป็นความผิดต่อเนื่องกัน โดยปล้นทรัพย์จากท้องที่หนึ่งนำไปจำหน่ายแก่ผู้รับของโจรในอีกท้องที่หนึ่ง ดังนั้น พนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งเกี่ยวข้องกับเหตุที่เกิดจึงมีอำนาจสอบสวนได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙ จำเลยที่ ๔ ต้องหาว่ากระทำความผิดฐานรับของโจรรถยนต์ที่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ปล้นเอามาซึ่งความผิดฐานปล้นทรัพย์มีอัตราสูงกว่าความผิดฐานรับของโจร โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ ๔ ในความผิดฐานรับของโจรต่อศาลชั้นต้นซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีความผิดฐานปล้นทรัพย์ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๔

(*ยกตัวอย่างสมมุติ.- พนักงานสอบสวน สภ.เชียงคำ ได้รับแจ้งความร้องทุกข์จากผู้เสียหายให้ดำเนินคดีกับนาย ส. ฐานลักทรัพย์ที่มีไว้เพื่อบูชาสาธารณะฯ เหตุเกิดที่ ในวัด ย. ต.หย่วน อ.เชียงคำ จ.พะเยา พนักงานสอบสวน สภ.เชียงคำ ดำเนินคดีกับนาย ส. ที่ลักพระพุทธรูป แต่ไม่ได้ดำเนินคดีกับนาง ว. ผู้ที่เปิดร้านรับซื้อพระพุทธรูปของกลางในตลาด ต.เวียง อ.เมือง จ.พะเยา ในความผิดฐานรับของโจร เมื่อศาลจังหวัดพะเยาพิพากษาลงโทษจำคุกนาย ส. คดีถึงที่สุดแล้ว พนักงานอัยการจึงแนะนำให้ พนักงานสอบสวน สภ.เชียงคำ ดำเนินคดีกับนาง ว. ดังนี้ พนักงานสอบสวน สภ.เชียงคำ มีอำนาจสอบสวนดำเนินคดีกับนาง ว. ฐานรับของโจร ซึ่งเหตุเกิดในท้องที่ของ สภ.เมืองพะเยา หรือไม่
               เห็นว่า แม้ความผิดฐานลักทรัพย์กับความผิดฐานรับของโจรเกิดขึ้นต่างท้องที่กัน คือ สภ.เชียงคำ และ สภ.เมืองพะเยา แต่ทรัพย์ที่ถูกลักกับรับของโจรนั้นเป็นทรัพย์สิ่งเดียวกัน คือ พระพุทธรูปของผู้เสียหาย โดยถูกลักไปจากท้องที่หนึ่งแล้วนำไปจำหน่ายให้แก่ผู้รับของโจรในอีกท้องที่หนึ่ง จึงเป็นความผิดหลายฐานเกี่ยวพันกันโดยมีผู้กระทำความผิดหลายคน มีทั้งที่เป็นตัวการลักทรัพย์และผู้รับของโจร พระพุทธรูปของผู้เสียหายถูกลักไปในท้องที่ สภ.เชียงคำ ต่อมา เจ้าพนักงานตำรวจยึดพระพุทธรูปดังกล่าวได้จากร้านของนาง ว. ซึ่งอยู่ในเขตท้องที่ สภ.เมืองพะเยา ดังนี้
               แม้ความผิดฐานลักทรัพย์กับความผิดฐานรับของโจรเกิดขึ้นต่างท้องที่กันก็ตาม แต่ก็เป็นความผิดต่อเนื่องกัน พนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องย่อมมีอำนาจสอบสวนได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๙ (๓) พนักงานสอบสวน สภ.เชียงคำ ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนคดีนี้ จึงมีอำนาจสอบสวนความผิดอาญาที่เกิดขึ้นกับทรัพย์ของผู้เสียหายได้ ไม่ว่าจะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร และแม้ว่าจะยึดพระพุทธรูปของผู้เสียหายและจับนาย ส.ได้พร้อมกันที่ร้านของนาง ว. ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของพนักงานสอบสวน สภ.เมืองพะเยา ก็ตาม พนักงานสอบสวน สภ.เชียงคำ จึงเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวนแล้วเข้ากรณีตามมาตรา ๑๙ วรรคสาม (ข) เพราะเป็นพนักงานสอบสวนในท้องที่ที่พบการกระทำผิดอยู่ก่อน โดยเริ่มสอบสวนตั้งแต่ยังจับตัวผู้ต้องหาไม่ได้
              ถึงแม้ว่า ศาลจังหวัดพะเยาได้พิพากษาลงโทษจำคุกนาย ส. และคดีถึงที่สุดแล้วก็ตาม ก็ไม่ทำให้อำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวน สภ.เชียงคำ หมดสิ้นไป จึงเห็นว่าพนักงานสอบสวน สภ.เชียงคำ เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในคดีนี้ แม้พนักงานสอบสวน สภ.เชียงคำ จะเคยมีความเห็นว่าไม่ควรดำเนินคดีกับนาง ว. แต่ความเห็นของพนักงานสอบสวนดังกล่าวยังไม่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา ๑๔๕ และมาตรา ๑๔๖ ดังนั้น จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา ๑๔๗ ที่ห้ามมิให้มีการสอบสวนนาง ว. ในเรื่องเดียวกันนั้นอีก แม้ว่าคดีที่นาย ส. ลักทรัพย์พระพุทธรูป ศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้องแล้วก็ตาม แต่จำเลยในคดีแรกและจำเลยในคดีหลังที่จะนำมาฟ้องใหม่ไม่ใช่คนเดียวกัน สิทธินำคดีอาญามาฟ้องนาง ว. จึงไม่ระงับไป พนักงานสอบสวน สภ.เชียงคำ จึงมีอำนาจดำเนินคดีกับนาง ว. ได้อีก)