วันพฤหัสบดีที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2557

การสอบสวนเสร็จและการสอบสวนเพิ่มเติม

เรื่องเสร็จที่ ๗๖๖/๒๕๔๖  (โดยย่อ)
บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
เรื่อง หารือเกี่ยวกับอำนาจสอบสวนเพิ่มเติมของพนักงานสอบสวน

               เมื่อพนักงานสอบสวนสรุปสำนวนการสอบสวนและมีความเห็นควรสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องตามมาตรา ๑๔๐  มาตรา ๑๔๑ หรือ มาตรา ๑๔๒  และส่งให้พนักงานอัยการแล้ว พนักงานสอบสวนย่อมหมดอำนาจที่จะทำการสอบสวนเพิ่มเติมในคดีนั้นอีก แม้ต่อมาในภายหลังจะได้พยานหลักฐานที่เป็นประโยชน์ต่อรูปคดีก็ตาม
              ทั้งนี้ เพราะบทบัญญัติในวรรคสามของมาตรา ๑๔๑ และ มาตรา ๑๔๓ (๒) (ก) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ไม่ได้ให้อำนาจพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติม เว้นแต่พนักงานอัยการจะสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติม ประกอบกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๙/๒๔๘๑ ก็วินิจฉัยว่า เมื่อพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเสร็จ และได้ส่งสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการแล้ว พนักงานสอบสวนย่อมหมดอำนาจที่จะทำการสอบสวนคดีต่อไป เพราะหากให้พนักงานสอบสวนเข้าเกี่ยวข้องโดยลำพังได้ต่อไป อาจทำให้เสียหายแก่คดี โดยพนักงานอัยการผู้รับผิดชอบมิได้รู้เห็นตามควรแก่หน้าที่
             คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑๑) จึงเห็นว่า พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจสอบสวนเพิ่มเติมภายหลังจากที่ได้ส่งสำนวนการสอบสวนให้แก่พนักงานอัยการแล้ว เพราะพนักงานสอบสวนหมดอำนาจที่จะทำการสอบสวนคดีต่อไป
             ส่วนการแจ้งข้อหาและการสอบสวนผู้ต้องหาที่จับได้ในภายหลังนั้น พนักงานสอบสวนจะต้องดำเนินการตามมาตรา ๑๓๔ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยเมื่อพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาแล้ว ให้ส่งบันทึกการแจ้งข้อหาไปยังพนักงานอัยการโดยไม่ต้องทำความเห็นอีก
             ในกรณีที่มีคำสั่งไม่ฟ้อง และคำสั่งนั้นไม่ใช่ของอัยการสูงสุด ถ้าในกรุงเทพมหานคร ให้รีบส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมคำสั่งเสนอผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ถ้าในจังหวัดอื่น ให้รีบส่งสำนวนพร้อมกับคำสั่งเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วแต่กรณี ในกรณีบุคคลดังกล่าวแย้งคำสั่งของพนักงานอัยการ ให้ส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมความเห็นที่แย้งกันไปยังพนักงานอัยการสูงสุดเพื่อชี้ขาด แต่ถ้าคดีจะขาดอายุความหรือมีเหตุอย่างอื่นอันจำเป็นจะต้องรีบฟ้อง ก็ให้ฟ้องคดีนั้นตามความเห็นแย้งนั้นไปก่อน
             คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑๑) จึงเห็นว่า กรณีที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาแล้วส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมคำสั่งเสนอผู้บัญชาการตำรวจ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วแต่กรณี เพื่อทำความเห็นแย้งตามมาตรา ๑๔๕ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือ มาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.๒๔๙๙  ผู้บัญชาการตำรวจ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วแต่กรณี ไม่มีอำนาจสอบสวนเพิ่มเติม หรือสั่งให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีดังกล่าวสอบสวนเพิ่มเติมได้อีก
(*หมายเหตุ.- ปัจจุบันแก้ไขจากผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้บัญชาการตำรวจหรือรองผู้บัญชาการตำรวจ ตามประกาศ คสช.ที่ ๑๑๕/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๑ ก.ค.๒๕๕๗)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๙/๒๔๘๑
พ.ร.บ.ลักษณะพะยาน ร.ศ.๑๑๓ มาตรา ๕๑
ป.วิ.อ. มาตรา ๑๓๓ , ๑๔๐ , ๑๔๑ , ๑๔๒, ๑๔๓
            ได้ความว่าพนักงานสอบสวนได้หมายเรียกจำเลยมาให้การเป็นพะยานในคดีอาญาเรื่อง บ. ต้องหา ฐานใช้ให้เขากระทำผิดฐานฆ่าคนตาย จำเลยมาตามหมาย แต่ไม่ยอมให้การ โจทก์จึงฟ้องขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณพะยาน ร.ศ.๑๑๓ ม.๕๑
            ข้อเท็จจริงที่รับกันมีว่าเรื่อง บ.ต้องหานี้ พนักงานสอบสวนได้สอบสวนเสร็จและส่งไปให้อัยยการฟ้อง บ. แล้ว
            ศาลฎีกาตัดสินยืนตามศาลอุทธรณ์ว่า เมื่อการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้วและสำนวนการสอบสวนก็ส่งไปยังพนักงานอัยยการแล้วหน้าที่ของพนักงานสอบสวนก็สุดสิ้นลง ตกเป็นหน้าที่ของพนักงานอัยยการต่อไป และพนักงานสอบสวนจะดำเนินการสอบสวนโดยพนักงานอัยยการผู้รับผิดชอบมิได้รู้เห็นด้วยมิได้ เมื่อพนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจสอบสวนต่อไปดังนี้ การที่จำเลยไม่ยอมให้การจึงไม่มีความผิด จึงไม่จำเป็นวินิจฉัยถึงปัญหาอื่นต่อไป พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์