วันพฤหัสบดีที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2557

การสอบสวนเสร็จและการสอบสวนเพิ่มเติม

เรื่องเสร็จที่ ๗๖๖/๒๕๔๖  (โดยย่อ)
บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
เรื่อง หารือเกี่ยวกับอำนาจสอบสวนเพิ่มเติมของพนักงานสอบสวน

               เมื่อพนักงานสอบสวนสรุปสำนวนการสอบสวนและมีความเห็นควรสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องตามมาตรา ๑๔๐  มาตรา ๑๔๑ หรือ มาตรา ๑๔๒  และส่งให้พนักงานอัยการแล้ว พนักงานสอบสวนย่อมหมดอำนาจที่จะทำการสอบสวนเพิ่มเติมในคดีนั้นอีก แม้ต่อมาในภายหลังจะได้พยานหลักฐานที่เป็นประโยชน์ต่อรูปคดีก็ตาม
              ทั้งนี้ เพราะบทบัญญัติในวรรคสามของมาตรา ๑๔๑ และ มาตรา ๑๔๓ (๒) (ก) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ไม่ได้ให้อำนาจพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติม เว้นแต่พนักงานอัยการจะสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติม ประกอบกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๙/๒๔๘๑ ก็วินิจฉัยว่า เมื่อพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเสร็จ และได้ส่งสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการแล้ว พนักงานสอบสวนย่อมหมดอำนาจที่จะทำการสอบสวนคดีต่อไป เพราะหากให้พนักงานสอบสวนเข้าเกี่ยวข้องโดยลำพังได้ต่อไป อาจทำให้เสียหายแก่คดี โดยพนักงานอัยการผู้รับผิดชอบมิได้รู้เห็นตามควรแก่หน้าที่
             คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑๑) จึงเห็นว่า พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจสอบสวนเพิ่มเติมภายหลังจากที่ได้ส่งสำนวนการสอบสวนให้แก่พนักงานอัยการแล้ว เพราะพนักงานสอบสวนหมดอำนาจที่จะทำการสอบสวนคดีต่อไป
             ส่วนการแจ้งข้อหาและการสอบสวนผู้ต้องหาที่จับได้ในภายหลังนั้น พนักงานสอบสวนจะต้องดำเนินการตามมาตรา ๑๓๔ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยเมื่อพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาแล้ว ให้ส่งบันทึกการแจ้งข้อหาไปยังพนักงานอัยการโดยไม่ต้องทำความเห็นอีก
             ในกรณีที่มีคำสั่งไม่ฟ้อง และคำสั่งนั้นไม่ใช่ของอัยการสูงสุด ถ้าในกรุงเทพมหานคร ให้รีบส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมคำสั่งเสนอผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ถ้าในจังหวัดอื่น ให้รีบส่งสำนวนพร้อมกับคำสั่งเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วแต่กรณี ในกรณีบุคคลดังกล่าวแย้งคำสั่งของพนักงานอัยการ ให้ส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมความเห็นที่แย้งกันไปยังพนักงานอัยการสูงสุดเพื่อชี้ขาด แต่ถ้าคดีจะขาดอายุความหรือมีเหตุอย่างอื่นอันจำเป็นจะต้องรีบฟ้อง ก็ให้ฟ้องคดีนั้นตามความเห็นแย้งนั้นไปก่อน
             คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑๑) จึงเห็นว่า กรณีที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาแล้วส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมคำสั่งเสนอผู้บัญชาการตำรวจ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วแต่กรณี เพื่อทำความเห็นแย้งตามมาตรา ๑๔๕ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือ มาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.๒๔๙๙  ผู้บัญชาการตำรวจ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วแต่กรณี ไม่มีอำนาจสอบสวนเพิ่มเติม หรือสั่งให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีดังกล่าวสอบสวนเพิ่มเติมได้อีก
(*หมายเหตุ.- ปัจจุบันแก้ไขจากผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้บัญชาการตำรวจหรือรองผู้บัญชาการตำรวจ ตามประกาศ คสช.ที่ ๑๑๕/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๑ ก.ค.๒๕๕๗)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๙/๒๔๘๑
พ.ร.บ.ลักษณะพะยาน ร.ศ.๑๑๓ มาตรา ๕๑
ป.วิ.อ. มาตรา ๑๓๓ , ๑๔๐ , ๑๔๑ , ๑๔๒, ๑๔๓
            ได้ความว่าพนักงานสอบสวนได้หมายเรียกจำเลยมาให้การเป็นพะยานในคดีอาญาเรื่อง บ. ต้องหา ฐานใช้ให้เขากระทำผิดฐานฆ่าคนตาย จำเลยมาตามหมาย แต่ไม่ยอมให้การ โจทก์จึงฟ้องขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณพะยาน ร.ศ.๑๑๓ ม.๕๑
            ข้อเท็จจริงที่รับกันมีว่าเรื่อง บ.ต้องหานี้ พนักงานสอบสวนได้สอบสวนเสร็จและส่งไปให้อัยยการฟ้อง บ. แล้ว
            ศาลฎีกาตัดสินยืนตามศาลอุทธรณ์ว่า เมื่อการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้วและสำนวนการสอบสวนก็ส่งไปยังพนักงานอัยยการแล้วหน้าที่ของพนักงานสอบสวนก็สุดสิ้นลง ตกเป็นหน้าที่ของพนักงานอัยยการต่อไป และพนักงานสอบสวนจะดำเนินการสอบสวนโดยพนักงานอัยยการผู้รับผิดชอบมิได้รู้เห็นด้วยมิได้ เมื่อพนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจสอบสวนต่อไปดังนี้ การที่จำเลยไม่ยอมให้การจึงไม่มีความผิด จึงไม่จำเป็นวินิจฉัยถึงปัญหาอื่นต่อไป พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์

วันพุธที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2557

คดีความผิดนอกราชอาณาจักร

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
             "มาตรา ๒๐  ถ้าความผิดซึ่งมีโทษตามกฎหมายไทยได้กระทำลงนอกราชอาณาจักรไทย ให้อัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบหรือจะมอบหมายหน้าที่นั้น ให้พนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนคนใดเป็นผู้รับผิดชอบทำการสอบสวนแทนก็ได้
             ในกรณีที่อัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนมอบหมายให้พนักงานสอบสวนคนใดเป็นผู้รับผิดชอบทำการสอบสวน อัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนจะมอบหมายให้พนักงานอัยการคนใดทำการสอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวนก็ได้
             ให้พนักงานอัยการที่ได้รับมอบหมายให้เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบหรือให้ทำการสอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวนมีอำนาจและหน้าที่ในการสอบสวนเช่นเดียวกับพนักงานสอบสวนบรรดาอำนาจและหน้าที่ประการอื่นที่กฎหมายบัญญัติไว้ให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของพนักงานอัยการ
             ในกรณีที่พนักงานอัยการทำการสอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนปฏิบัติตามคำสั่งและคำแนะนำของพนักงานอัยการในเรื่องที่เกี่ยวกับการรวบรวมพยานหลักฐาน
             ในกรณีจำเป็น พนักงานสอบสวนต่อไปนี้มีอำนาจสอบสวนในระหว่างรอคำสั่งจากอัยการสูงสุด หรือผู้รักษาการแทน
                 (๑) พนักงานสอบสวนซึ่งผู้ต้องหาถูกจับในเขตอำนาจ
                 (๒) พนักงานสอบสวนซึ่งรัฐบาลประเทศอื่นหรือบุคคลที่ได้รับความเสียหายได้ร้องฟ้องให้ทำโทษผู้ต้องหา
              เมื่อพนักงานอัยการ หรือพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวน แล้วแต่กรณี เห็นว่าการสอบสวนเสร็จแล้ว ให้ทำความเห็นตามมาตรา ๑๔๐ มาตรา ๑๔๑ หรือมาตรา ๑๔๒ ส่งพร้อมสำนวนไปยังอัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทน"

ประมวลกฎหมายอาญา
             "มาตรา ๔  ผู้ใดกระทำความผิดในราชอาณาจักร ต้องรับโทษตามกฎหมาย
              การกระทำความผิดในเรือไทยหรืออากาศยานไทย ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใด ให้ถือว่ากระทำความผิดในราชอาณาจักร" (วรรคสอง อยู่ภายใต้ ป.วิ.อ. มาตรา ๒๐)
             "มาตรา ๕  ความผิดใดที่การกระทำ แม้แต่ส่วนหนึ่งส่วนใดได้กระทำในราชอาณาจักรก็ดี ผลแห่งการกระทำเกิดในราชอาณาจักรโดยผู้กระทำประสงค์ให้ผลนั้นเกิดในราชอาณาจักร หรือโดยลักษณะแห่งการกระทำ ผลที่เกิดขึ้นควรเกิดในราชอาณาจักรหรือย่อมจะเล็งเห็นได้ว่าผลนั้นจะเกิดในราชอาณาจักรก็ดี ให้ถือว่าความผิดนั้นได้กระทำในราชอาณาจักร
              ในกรณีการตระเตรียมการ หรือพยายามกระทำการใดซึ่งกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด แม้การกระทำนั้นจะได้กระทำนอกราชอาณาจักร ถ้าหากการกระทำนั้นจะได้กระทำตลอดไปจนถึงขั้นความผิดสำเร็จ ผลจะเกิดขึ้นในราชอาณาจักร ให้ถือว่า การตระเตรียมการหรือพยายามกระทำความผิดนั้นได้กระทำในราชอาณาจักร"
             "มาตรา ๖  ความผิดใดที่ได้กระทำในราชอาณาจักร หรือที่ประมวลกฎหมายนี้ถือว่าได้กระทำในราชอาณาจักร แม้การกระทำของผู้เป็นตัวการด้วยกัน ของผู้สนับสนุน หรือของผู้ใช้ให้กระทำความผิดนั้นจะได้กระทำนอกราชอาณาจักร ก็ให้ถือว่าตัวการ ผู้สนับสนุน หรือผู้ใช้ให้กระทำได้กระทำในราชอาณาจักร"
             "มาตรา ๗  ผู้ใดกระทำความผิดดังระบุไว้ต่อไปนี้นอกราชอาณาจักร จะต้องรับโทษในราชอาณาจักร คือ
                          (๑) ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๐๗ ถึงมาตรา ๑๒๙ (๑/๑) ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓๕/๑ มาตรา ๑๓๕/๒ มาตรา ๑๓๕/๓ และมาตรา ๑๓๕/๔
                          (๒) ความผิดเกี่ยวกับการปลอมและการแปลง ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๔๐ ถึงมาตรา ๒๔๙ มาตรา ๒๕๔ มาตรา ๒๕๖ มาตรา ๒๕๗ และมาตรา ๒๖๖ (๓) และ (๔) (๒ ทวิ) ความผิดเกี่ยวกับเพศตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๘๒ และมาตรา ๒๘๓
                          (๓) ความผิดฐานชิงทรัพย์ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๓๙ และความผิดฐานปล้นทรัพย์ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๔๐ ซึ่งได้กระทำในทะเลหลวง"

วันเสาร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2557

การทำความเห็นทางคดีของ พงส.ผทค.

กรณีพนักงานสอบสวนผู้ทรงคุณวุฒิ ทำความเห็นทางคดีโดยปฏิบัติราชการแทน ผกก.สน.
ตามหนังสือ ตร ที่ ๐๐๑๑.๒๔/๒๘๔๘ ลง ๒๙ ส.ค.๒๕๕๗

              ตร. ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า อำนาจในการทำความเห็นทางคดีเป็นเรื่องเฉพาะตัวซึ่งกฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะไม่อาจมอบหมายให้ผู้อื่นปฏิบัติหน้าที่แทนกันได้
              เว้นแต่ ในกรณีเป็นผู้รักษาราชการในตำแหน่ง หรือรักษาราชการแทน ย่อมสามารถทำความเห็นทางคดีได้
              ทั้งนี้ เป็นไปตามระเบียบ ตร. ว่าด้วยอำนาจการทำความเห็นทางคดีของตำรวจนครบาล (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๔๓ ซึ่งวางระเบียบไว้ในประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี ลักษณะ ๘ การสอบสวน บทที่ ๑๒ อำนาจการทำความเห็นทางคดีของตำรวจนครบาล ข้อ ๒๗๖ การสอบสวนคดีอาญาของ บช.น. (๑) อำนาจการทำความเห็นทางคดี (๑.๒) และได้กำหนดอัตราโทษไว้แล้ว ให้ ผกก. หรือ รอง กก.หน.สน. หรือผู้รักษาการในตำแหน่ง ผู้รักษาราชการแทน มีอำนาจทำความเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง
              ประกอบกับ ตร. มีคำสั่งที่ ๔๑๙/๒๕๕๖ ลง ๑ ก.ค.๒๕๕๖ เรื่องการอำนวยความยุติธรรมในคดีอาญา การทำสำนวนการสอบสวนและมาตรการควบคุม ตรวจสอบ เร่งรัดการสอบสวนคดีอาญา ข้อ ๒.๕.๑  หัวหน้าสถานีตำรวจ หัวหน้าหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวน หรือผู้รักษาราชการแทน ที่มีอำนาจสอบสวนความผิดอาญา เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน ตามมาตรา ๑๘ วรรคสี่ และมาตรา ๑๔๐ แห่ง ป.วิ.อ. ไว้โดยชัดแจ้ง
             กรณีปรากฏว่าพนักงานสอบสวนผู้ทรงคุณวุฒิ ทำความเห็นทางคดีในฐานะปฏิบัติราชการแทน หรือ ปรท.ผกก.สน. โดยไม่ได้ทำความเห็นทางคดีในฐานะรักษาราชการแทนหรือ รรท.ผกก.สน.  จึงเป็นการทำความเห็นโดยไม่มีอำนาจ เมื่อได้ทำความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาไว้ในสำนวน จึงไม่ถือเป็นการกระทำในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๘ วรรคสี่ , มาตรา ๑๔๐ ที่บัญญัติไว้
             กรณีจึงเป็นการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องและไม่มีอำนาจกระทำได้ ส่งผลให้การทำความเห็นทางคดี เห็นควรสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาในสำนวนไม่มีผลตามกฎหมาย เท่ากับสำนวนการสอบสวนคดีดังกล่าวผู้มีอำนาจทำความเห็นทางคดีของพนักงานสอบสวนตามกฎหมายยังไม่ได้มีความเห็นทางคดีกับผู้ต้องหานั้น ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๔๒ ที่บัญญัติไว้  อันจะทำให้พนักงานอัยการอาศัยอำนาจตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๔๓ ในการทำความเห็นสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องแล้วแต่กรณีเพื่อมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดกับผู้ต้องหาได้
             ดังนั้น การที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา เสนอสำนวนไปยัง ผบ.ตร. เพื่อให้พิจารณาตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๔๕ จึงไม่มีผลตามกฎหมายเช่นเดียวกัน ทำให้ไม่อาจพิจารณาทำความเห็นทางคดีอย่างหนึ่งอย่างใดได้
             นอกจากนี้ ยังตรวจพบว่ามีพนักงานสอบสวนผู้ทรงคุณวุฒิ บาง สน. ได้ทำความเห็นทางคดีแทน ผกก.สน. ในฐานะ รรท.  อีกหลายสำนวน แต่ในสำนวนไม่ปรากฏคำสั่งหรือหลักฐานหนังสือที่ระบุให้พนักงานสอบสวนผู้นั้นรักษาราชการแทน หรือ "รรท." รวมอยู่ในสำนวนการสอบสวน ทำให้เกิดข้อเคลือบแคลงสงสัยในประเด็นเรื่องอำนาจการทำความเห็นทางคดีขึ้นได้
             ฉะนั้น จึงกำชับการปฏิบัติของพนักงานสอบสวนเกี่ยวกับการทำความเห็นทางคดีในสำนวนการสอบสวนทุกสำนวน ให้เสนอผู้มีอำนาจในการทำความเห็นทางคดีตามระเบียบและคำสั่ง ตร.ที่กำหนดไว้โดยเคร่งครัด หากมีกรณีผู้ที่ทำความเห็นทางคดีมิใช่ ผกก.สน. หรือ หน.สน.  แต่ทำความเห็นทางคดีในฐานะรักษาราชการแทน "รรท." ในสำนวนใด ให้แนบหลักฐานคำสั่งหรือหนังสือที่ระบุให้รักษาราชการแทน หรือ "รรท." รวมไว้ในสำนวนทุกสำนวนด้วย หากตรวจพบว่าพนักงานสอบสวนนายใดยังฝ่าฝืนไม่ถือปฏิบัติตาม จะพิจารณาข้อบกพร่องในกรณีดังกล่าวต่อไป

วันเสาร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2557

สับสนเรื่องเขตพื้นที่รับผิดชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  582/2549
 ป.วิ.อ. มาตรา 18, 19, 120
             เหตุคดีนี้เกิดในพื้นที่อำเภอเมืองอำนาจเจริญ ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของพนักงานสอบสวน สภ.เมืองอำนาจเจริญ มิได้เกิดในเขตอำนาจสอบสวนของ สภ.ไทยเจริญ จังหวัดยโสธร พนักงานสอบสวน สภ.ไทยเจริญ จึงไม่มีอำนาจสอบสวนความผิดซึ่งได้เกิดขึ้นในคดีนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 18 วรรคหนึ่ง
             ข้อที่โจทก์อ้างในฎีกาว่าเป็นกรณีพยานโจทก์ผู้จับกุมไม่แน่ใจว่าการกระทำผิดอาญาได้กระทำในท้องที่ใดระหว่างหลายท้องที่ พนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 นั้น หมายความเฉพาะเมื่อสภาพการกระทำผิดอาญานั้นเองเป็นที่ประจักษ์ชัดอยู่ในตัวว่า เป็นการไม่แน่ว่ากระทำขึ้นในท้องที่ใดในระหว่างหลายท้องที่ต่างเขตอำนาจสอบสวน มิได้หมายความถึงกรณีที่ตัวพนักงานสอบสวนหรือผู้จับกุมสับสนในเรื่องพื้นที่เขตอำนาจของตนเสียเอง ทั้งที่เป็นการแน่นอนแล้วว่าความผิดนั้นได้กระทำในท้องที่ใด เมื่อพนักงานสอบสวน สภ.ไทยเจริญ ยังขืนสอบสวนความผิดนี้ การสอบสวนนั้นจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือได้ว่าคดีนี้ไม่มีการสอบสวน เมื่อยังมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้น โจทก์จึงต้องห้ามมิให้ฟ้องคดีต่อศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120

ท้องที่ที่ผู้ต้องหาถูกจับได้ก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3466/2547
ป.วิ.อ. มาตรา 19, 120, 140, 141
ป.อ. มาตรา ๒๘๘, ๘๐, ๙๑, ๓๓, ๓๗๑
พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๘ ทวิ, ๗๒, ๗๒ ทวิ
              กรณีที่เป็นการไม่แน่ว่าการกระทำผิดอาญาได้กระทำในท้องที่ใดในระหว่างหลายท้องที่ พนักงานสอบสวน ในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 วรรคสอง เมื่อข้อเท็จจริงยังฟังไม่ชัดแจ้งว่าเหตุในคดีนี้เกิดในท้องที่ใดแน่ ระหว่างอำเภอบัวใหญ่ กับอำเภอแก้งสนามนาง จังหวัดนครราชสีมา พนักงานสอบสวนท้องที่หนึ่งท้องที่ใดดังกล่าวย่อมมีอำนาจสอบสวนได้
             แต่ตามวรรคสาม (ก) ของมาตรา 19 ดังกล่าวระบุว่า พนักงานสอบสวนที่เป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวน คือ พนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่จับผู้ต้องหาได้อยู่ในเขตอำนาจ ดังนั้น เมื่อปรากฏว่า จำเลยถูกจับได้ที่อำเภอแก้งสนามนาง โดยมีสารวัตรสืบสวนสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบัวใหญ่ กับเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอบัวใหญ่อีกหลายนายเป็นผู้ร่วมจับกุม
             ฉะนั้น พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในคดีนี้ คือ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอแก้งสนามนาง มิใช่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบัวใหญ่ เมื่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบัวใหญ่ซึ่งมิใช่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบเป็นผู้สรุปสำนวนและทำความเห็นว่า ควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องจำเลยคดีนี้ แล้วส่งสำนวนเพื่อให้พนักงานอัยการพิจารณาตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 140 และ 141 ก็ถือไม่ได้ว่ามีการสอบสวนในความผิดนั้นโดยชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คดีลักทรัพย์และรับของโจร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๒๔๕๕/๒๕๕๐
ป.วิ.อ. มาตรา ๒๔
                แม้ความผิดฐานลักทรัพย์กับความผิดฐานรับของโจรเกิดขึ้นต่างท้องที่กัน คือ จังหวัดราชบุรี และจังหวัดนครปฐม แต่ทรัพย์ที่ถูกลักกับรับของโจรนั้นเป็นทรัพย์สิ่งเดียวกัน คือ รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย โดยถูกลักไปจากท้องที่หนึ่งแล้วนำไปจำหน่ายให้แก่ผู้รับของโจรในอีกท้องที่หนึ่ง จึงเป็นความผิดหลายฐานเกี่ยวพันกัน โดยมีผู้กระทำความผิดหลายคน มีทั้งที่เป็นตัวการลักทรัพย์ ผู้สมรู้และผู้รับของโจรตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒๔ (๑)
                ดังนั้น ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยรับจำนำรถจักรยานยนต์ดังกล่าวจาก ท. ไม่ได้เกี่ยวข้องกับที่ บ. ลักรถจักรยานยนต์และไม่ได้เกี่ยวข้องกับชายไม่ทราบชื่อที่ซื้อรถจักรยานยนต์จาก บ. ที่จังหวัดสมุทรสาคร คดีจึงไม่มีเหตุการณ์ต่อเนื่องหรือเกี่ยวพันกันดังที่จำเลยฎีกานั้น ย่อมฟังไม่ขึ้น และความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนมีอัตราโทษสูงกว่าฐานรับของโจร ดังนั้น โจทก์จึงฟ้องจำเลยในความผิดฐานรับของโจรต่อศาลชั้นต้นที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีความผิดฐานลักทรัพย์ในเหตุฉกรรจ์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒๔ วรรคหนึ่ง โจทก์ไม่ได้ฟ้องจำเลยผิดศาลดังที่จำเลยฎีกา

คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๕๗๙/๒๕๔๖
ป.วิ.อ. ม.๑๙
              รถยนต์หายไปจากท้องที่ของ สภ.เมืองสมุทรสาคร ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยกับพวกได้พร้อมรถยนต์ที่หายไปในท้องที่ของ สภ.ลาดบัวหลวงในข้อหาซ่องโจร ความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรรถยนต์จึงเป็นความผิดต่อเนื่อง ซึ่งกระทำต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไป ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๙ วรรคหนึ่ง (๓) พนักงานสอบสวน สภ.เมืองสมุทรสาคร จึงมีอำนาจสอบสวนในความผิดฐานลักทรัพย์ หรือรับของโจรได้ เพราะเป็นสถานีตำรวจในท้องที่ที่เกี่ยวข้องกับความผิดดังกล่าว
              เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยกับพวกได้พร้อมรถยนต์ในท้องที่ สภ.ลาดบัวหลวง ในข้อหาซ่องโจร ซึ่งเป็นความผิดคนละข้อหากับความผิดที่พนักงานสอบสวน สภ.เมืองสมุทรสาคร ทำการสอบสวน และเจ้าพนักงานตำรวจ สภ.ลาดบัวหลวง คงควบคุมตัวจำเลยกับพวกไว้ในข้อหาซ่องโจรเท่านั้น เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจ สภ.ลาดบัวหลวง ไม่ได้จับกุมและกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสี่กับพวกกระทำความผิดลักทรัพย์หรือรับของโจรรถยนต์ที่หายไป จึงถือไม่ได้ว่าเจ้าพนักงานตำรวจ สภ.ลาดบัวหลวง จับกุมจำเลยกับพวกในความผิดลักทรัพย์หรือรับของโจรได้แล้วตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๙ วรรคสอง (ก) ดังนั้น พนักงานสอบสวน สภ.ลาดบัวหลวง จึงไม่ใช่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในข้อหาลักทรัพย์หรือรับของโจร
            พนักงานสอบสวนในท้องที่ที่พบการกระทำผิดอยู่ก่อน และเริ่มสอบสวนตั้งแต่ ยังจับตัวจำเลยไม่ได้ แม้ภายหลังจะปรากฏว่าจำเลยถูกจับกุมที่ท้องที่อื่นก็ตาม ก็หาทำให้พ้นจากการเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบไปไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๘๔๘๑/๒๕๔๔
ป.อ. มาตรา ๓๕๗
ป.วิ.อ. มาตรา ๑๔๕ , ๑๔๖ , ๑๔๗
             แม้พนักงานสอบสวนกองปราบปรามจะเคยมีความเห็นว่าไม่ควรดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสี่ แต่ความเห็นของพนักงานสอบสวนกองปราบปรามดังกล่าวยังไม่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๔๕ และมาตรา ๑๔๖ ดังนั้น จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา ๑๔๗ ที่ห้ามมิให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับบุคคลนั้นในเรื่องเดียวกันนั้นอีกเว้นแต่จะได้พยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดีซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหานั้นได้
            จำเลยที่ ๔ มีอาชีพเป็นพ่อค้าขายเครื่องประดับประเภทเพชร พลอย เงิน ทอง นาก และนาฬิกา ได้รับใบอนุญาตให้ค้าของเก่าจำเลยที่ ๔ ซื้อทรัพย์สินของกลางทั้ง ๑๖ รายการมาจากจำเลยที่ 3เป็นมูลค่านับสิบล้านบาท แสดงว่าจำเลยที่ ๔ ย่อมทราบดีว่าทรัพย์สินของกลางทั้ง ๑๖ รายการเป็นทรัพย์สินที่มีราคาสูงและหาซื้อไม่ได้ในท้องตลาดทั่วไป และย่อมทราบดีว่าทรัพย์สินของกลางได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย พฤติการณ์น่าเชื่อว่าจำเลยที่ ๔ ทราบว่าทรัพย์สินของกลางเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๗ วรรคแรก

คดีหมิ่นประมาท เกิดนอกเขตอำนาจ

คําพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๒๙๓๔/๒๕๕๓
ป.วิ.อ.  อํานาจสอบสวน  อํานาจฟ้องของพนักงานอัยการ  (มาตรา ๒ (๖), ๑๘, ๑๒๐, ๑๒๘)
              โจทก์ร่วมแจ้งความร้องทุกข์ต่อร้อยตํารวจโท ร. พนักงานสอบสวน สน.วังทองหลาง ให้ดําเนินคดีแก่จําเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาท
              ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๒๐ บัญญัติว่า “ห้ามพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน"  ซึ่งการสอบสวนดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๒๐ ต้องสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนตามที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒ (๖) ประกอบด้วยมาตรา ๑๘
              เมื่อเหตุคดีนี้เกิดในท้องที่ สภ.กลางใหญ่ จว.อุดรธานี ร้อยตํารวจโท ร. พนักงานสอบสวน สน.วังทองหลาง จึงไม่มีอํานาจสอบสวน เพราะคดีเกิดนอกเขตอํานาจของตน และไม่มีเหตุอื่นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๘ วรรคสอง ที่จะทําให้ตนมีอํานาจสอบสวนได้ ทั้งถือไม่ได้ว่าเป็นการทําแทนพนักงานสอบสวนผู้มีอํานาจ ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๒๘ บัญญัติไว้ การที่ร้อยตํารวจโท ร. สอบสวนโจทก์ร่วมและนาง อ. จึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
              แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพันตํารวจเอก ว. ผกก.สน.วังทองหลาง ส่งสำนวนการสอบสวนไปให้ รอง ผกก.สภ.กลางใหญ่ ปรากฏว่า ร้อยตำรวจเอก พ. พนักงานสอบสวน สภ.กลางใหญ่ ได้สอบสวนโจทก์ร่วมและนาง อ. อีกครั้งหนึ่ง แม้การสอบสวนดังกล่าวนาง อ. จะให้การว่า ขอยืนยันตามคําให้การที่ให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวน สน.วังทองหลาง ทุกประการก็ตาม แต่นาง อ. ก็ได้ให้การเกี่ยวกับรายละเอียดการกระทําความผิดของจำเลยไว้ด้วย ถือได้ว่ามีการสอบสวนโจทก์ร่วมและนาง อ. โดยพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบแล้ว
              ส่วนที่พนักงานสอบสวน สน.วังทองหลาง ได้สอบสวนโจทก์ร่วมเพิ่มเติมนั้น คงมีผลเพียงทำให้คำให้การดังกล่าวไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้เท่านั้น หาเป็นเหตุให้การสอบสวนเสียไปทั้งหมดไม่ เมื่อการสอบสวนของร้อยตํารวจเอก พ. พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบเป็นการสอบสวนโดยชอบแล้ว การสอบสวนคดีนี้จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๘ และมาตรา ๑๒๐ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คดีพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2880/2548
ป.วิ.อ. มาตรา 19
              ผู้เสียหายพักอาศัยอยู่กับอาในเขตท้องที่รับผิดชอบของ สภ.คูคต จำเลยพรากผู้เสียหายไป พาผู้เสียหายไปพักและกระทำชำเราผู้เสียหายในหลายท้องที่ต่างกัน จึงเป็นกรณีไม่แน่ว่าการกระทำความผิดอาญาได้กระทำในท้องที่ใดในระหว่างหลายท้องที่ และความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไป และเป็นความผิดเกิดขึ้นขณะผู้เสียหายกำลังเดินทาง พนักงานสอบสวนในท้องที่ใดท้องที่หนึ่งที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 วรรคหนึ่ง (1) (3) (6) และวรรคสอง พนักงานสอบสวนสภ.คูคต จึงมีอำนาจสอบสวนคดีนี้ได้
              พ. อาของผู้เสียหายไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สน.บางเขน แต่พนักงานสอบสวนไม่รับแจ้งความร้องทุกข์ เนื่องจาก พ. และผู้เสียหายพักอยู่ที่บ้านในเขตท้องที่ สภ.คูคต จึงเท่ากับไม่มีการแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สน.บางเขน พ. จึงไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สภ.คูคต
              ต่อมา จำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมได้ที่อำเภอเขาพนม จังหวัดกระบี่ ดังนั้น พนักงานสอบสวน สภ.คูคต จึงเป็นพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่พบการกระทำความผิดก่อน จึงเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตามมาตรา 19 วรรคสาม (ข) มีอำนาจสรุปสำนวนและทำความเห็นควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง ส่งไปพร้อมสำนวนเพื่อให้พนักงานอัยการพิจารณาตามมาตรา 140, 141 ได้ การสอบสวนคดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1974/2539
ป.อ. มาตรา 91, 276, 284, 310 ป.วิ.อ. มาตรา 19, 30, 120, 140, 141
               ความผิดฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจารโดยใช้อุบายหลอกลวงเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไป และความผิดฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจารตามที่โจทก์นำสืบ กับความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นและข่มขืนกระทำชำเราเป็นความผิดซึ่งมีหลายกรรมกระทำลงในท้องที่ต่างๆกันรวมทั้งในท้องที่ สน.บางยี่ขัน กรุงเทพมหานคร และ สภ.ท่ามะกา จว.กาญจนบุรี ซึ่งพนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 19 วรรคหนึ่ง (3) (4) และวรรคสอง
               ฉะนั้น พันตำรวจโท ว. พนักงานสอบสวน สน.บางยี่ขัน ในขณะเกิดเหตุซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้อง จึงมีอำนาจสอบสวนคดีนี้ แต่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองถูกจับที่อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวนกรณีจับผู้ต้องหาได้แล้ว เช่นนี้ จึงเป็นที่แน่ชัดว่าคือพนักงานสอบสวน สภ.ท่ามะกา ซึ่งเป็นท้องที่ที่จับได้อยู่ในเขตอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19 วรรคสาม (ก)
                การที่พันตำรวจโท ว. ได้ทำการสอบสวนคดีนี้หลังจากจับจำเลยทั้งสองได้แล้ว พันตำรวจโท ว. คงเป็นพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจสอบสวนเท่านั้น แต่พันตำรวจโท ว. มิได้เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ทั้งมิใช่กรณีที่จับผู้ต้องหายังไม่ได้อันจะถือว่าพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่พบการกระทำผิดก่อนอยู่ในเขตอำนาจเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19 วรรคสาม (ข) ได้
                  เมื่อพันตำรวจโท ว. มิใช่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบซึ่งมีอำนาจสรุปสำนวนและทำความเห็นว่าควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องส่งไปพร้อมกับสำนวนเพื่อให้พนักงานอัยการพิจารณาตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 140 และ 141 แม้จะดำเนินการสอบสวนต่อไปจนเสร็จก็ถือไม่ได้ว่าได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อนโดยชอบ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คดีปลอมและใช้เอกสารปลอม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4679/2554
ป.วิ.อ. มาตรา 19 (1), 19 (4), 121, 218 วรรคหนึ่ง
              แม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในฎีกาของจำเลยเพียงว่า “รับเฉพาะฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย ส่วนฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงในข้อ 3 ให้รอไว้สั่ง เมื่อผู้พิพากษาศาลชั้นต้นและผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิจารณาคำร้องขอให้อนุญาตให้ฎีกาเสร็จแล้ว” แต่เมื่อผู้พิพากษาศาลชั้นต้นและผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่อนุญาตให้ฎีกา ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งเกี่ยวกับฎีกาของจำเลยอีก กลับส่งสำนวนมาศาลฎีกาโดยไม่ได้แจ้งคำสั่งให้จำเลยทราบ แต่เมื่อจำเลยฎีกาในข้อ 3 ว่า พยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องและขอให้รอการลงโทษจำเลยไว้ จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง เพื่อมิให้คดีล่าช้า ศาลฎีกาเห็นควรสั่งไม่รับฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงในข้อ 3 โดยไม่จำต้องย้อนสำนวน
              ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นความผิดต่อศาลในการดำเนินกระบวนพิจารณาและรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาล เป็นเรื่องต่างหากจากความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารสำเนาคำสั่งศาลชั้นต้นปลอมในคดีนี้ แม้ศาลฎีกายกฟ้องความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เนื่องจากฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยไม่ได้กระทำในศาล ไม่ได้วินิจฉัยว่าจำเลยปลอมหรือใช้คำสั่งศาลปลอมหรือไม่ จำเลยจะนำคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวมาเป็นเหตุอ้างว่าไม่มีความผิดในคดีนี้หาได้ไม่
             จำเลยปลอมเอกสารสำเนาคำสั่งศาลชั้นต้น ที่ตั้ง ท. เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย เมื่อ ท. นำสำเนาคำสั่งศาลชั้นต้นปลอมดังกล่าวไปอ้างส่งต่อศาลชั้นต้นในการไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาล ว่าตนไม่มีส่วนรู้เห็นในการปลอมอันจะเป็นการละเมิดอำนาจศาล จึงถือว่ามีการใช้เอกสารสำเนาคำสั่งศาลชั้นต้นปลอมในท้องที่ สภ.เมืองขอนแก่น ซึ่งศาลชั้นต้นตั้งอยู่ในเขตอำนาจสอบสวน เมื่อขณะนั้นยังไม่แน่ว่าบุคคลใดเป็นผู้ปลอมคำสั่งศาลดังกล่าว และการกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารได้กระทำในท้องที่ใด แม้จำเลยจะมอบคำสั่งศาลปลอมให้แก่ ท. ในเขตท้องที่อำเภอภูเวียงก็ตาม กรณีเป็นที่เห็นได้ว่าเป็นการไม่แน่ว่าความผิดฐานปลอมเอกสารได้กระทำในท้องที่ใด ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 (1) นอกจากนี้หากการปลอมคำสั่งศาลไม่ได้ทำในท้องที่ สภ.เมืองขอนแก่น ก็เป็นกรณีที่การปลอมคำสั่งศาลชั้นต้น และ ท. นำสำเนาคำสั่งศาลชั้นต้นปลอมไปอ้างส่งต่อศาลชั้นต้นเป็นความผิดหลายกรรมกระทำลงในท้องที่ต่าง ๆ กัน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 (4) ด้วยแล้ว พนักงานสอบสวน สภ.เมืองขอนแก่น จึงมีอำนาจสอบสวนและเป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวนคดีนี้ได้
              ความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารสำเนาคำสั่งศาลชั้นต้นปลอมเป็นคดีอาญาความผิดต่อแผ่นดิน มิใช่ความผิดต่อส่วนตัวที่ต้องมีการร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคหนึ่ง โดยไม่ต้องมีการร้องทุกข์ กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าศาลชั้นต้นเป็นผู้เสียหายที่สามารถร้องทุกข์หรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  825/2506
ป.วิ.อ. มาตรา 19, 120, 158, 172
ป.อ. มาตรา 1(9), 265, 268
              จำเลยชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เพียง 10,000 บาทแล้วจำเลยแก้ไขจำนวนเงินในใบรับเงินที่เจ้าหนี้เซ็นชื่อเป็นผู้รับเงิน โดยแก้ 10,000 บาท เป็น 70,000 บาท ต่อมาจำเลยคัดสำเนาใบรับเงินที่ปลอมนั้นมาแสดงต่อศาลทำให้เจ้าหนี้ได้รับความเสียหายเพราะถ้าศาลหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงแล้ว เจ้าหนี้จะต้องขาดเงินที่ควรได้รับชำระหนี้ไป 60,000 บาท การปลอมของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา 264 แล้ว และเอกสารนี้เป็นใบรับเงินชำระหนี้แสดงว่าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ในจำนวนเงินนี้ระงับไปแล้วจำเลยจึงมีความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิตามมาตรา 265 และการที่จำเลยคัดสำเนาเอกสารที่ปลอมแสดงต่อศาลเป็นการอ้างถึงเอกสารที่ปลอม จึงเป็นความผิดตามมาตรา 268 ด้วยต้องลงโทษจำเลยตามมาตรา 268 ตามอัตราโทษในมาตรา 265
            คำบรรยายฟ้องที่แสดงว่าวันเวลาที่ระบุไว้นั้น หมายถึง วันเวลาที่ปลอม กับที่ใช้เอกสารปลอมด้วย
            จำเลยที่ 2 ชำระเงินให้เจ้าหนี้และเจ้าหนี้ออกใบรับเงินที่บ้านในท้องที่บุบผาราม จำเลยที่ 1 และที่ 2 อยู่ที่เทเวศร์  จำเลยที่ 1 ปลอมใบรับเงินนั้นที่ไหนไม่ปรากฏ แต่เอามาใช้อ้างที่ศาลแพ่ง จำเลยที่ 1 ถูกจับในท้องที่นางเลิ้ง ส่วนจำเลยที่ 2 ถูกจับที่ สน.บุบผาราม เมื่อเป็นการไม่แน่ว่าการกระทำผิดได้กระทำในท้องที่ใด แต่จำเลยที่ 2 ถูกจับที่ สน.บุบผาราม เช่นนี้ พนักงานสอบสวน สน.บุบผาราม จึงมีอำนาจสอบสวนคดีนี้ได้และย่อมสอบสวนจำเลยที่ 1 ได้ด้วย เพราะมีข้อหาว่าร่วมกันกระทำผิดในคดีนี้ด้วย