วันพุธที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2557

คดีความผิดนอกราชอาณาจักร

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
             "มาตรา ๒๐  ถ้าความผิดซึ่งมีโทษตามกฎหมายไทยได้กระทำลงนอกราชอาณาจักรไทย ให้อัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบหรือจะมอบหมายหน้าที่นั้น ให้พนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนคนใดเป็นผู้รับผิดชอบทำการสอบสวนแทนก็ได้
             ในกรณีที่อัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนมอบหมายให้พนักงานสอบสวนคนใดเป็นผู้รับผิดชอบทำการสอบสวน อัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนจะมอบหมายให้พนักงานอัยการคนใดทำการสอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวนก็ได้
             ให้พนักงานอัยการที่ได้รับมอบหมายให้เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบหรือให้ทำการสอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวนมีอำนาจและหน้าที่ในการสอบสวนเช่นเดียวกับพนักงานสอบสวนบรรดาอำนาจและหน้าที่ประการอื่นที่กฎหมายบัญญัติไว้ให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของพนักงานอัยการ
             ในกรณีที่พนักงานอัยการทำการสอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวน ให้พนักงานสอบสวนปฏิบัติตามคำสั่งและคำแนะนำของพนักงานอัยการในเรื่องที่เกี่ยวกับการรวบรวมพยานหลักฐาน
             ในกรณีจำเป็น พนักงานสอบสวนต่อไปนี้มีอำนาจสอบสวนในระหว่างรอคำสั่งจากอัยการสูงสุด หรือผู้รักษาการแทน
                 (๑) พนักงานสอบสวนซึ่งผู้ต้องหาถูกจับในเขตอำนาจ
                 (๒) พนักงานสอบสวนซึ่งรัฐบาลประเทศอื่นหรือบุคคลที่ได้รับความเสียหายได้ร้องฟ้องให้ทำโทษผู้ต้องหา
              เมื่อพนักงานอัยการ หรือพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวน แล้วแต่กรณี เห็นว่าการสอบสวนเสร็จแล้ว ให้ทำความเห็นตามมาตรา ๑๔๐ มาตรา ๑๔๑ หรือมาตรา ๑๔๒ ส่งพร้อมสำนวนไปยังอัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทน"

ประมวลกฎหมายอาญา
             "มาตรา ๔  ผู้ใดกระทำความผิดในราชอาณาจักร ต้องรับโทษตามกฎหมาย
              การกระทำความผิดในเรือไทยหรืออากาศยานไทย ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใด ให้ถือว่ากระทำความผิดในราชอาณาจักร" (วรรคสอง อยู่ภายใต้ ป.วิ.อ. มาตรา ๒๐)
             "มาตรา ๕  ความผิดใดที่การกระทำ แม้แต่ส่วนหนึ่งส่วนใดได้กระทำในราชอาณาจักรก็ดี ผลแห่งการกระทำเกิดในราชอาณาจักรโดยผู้กระทำประสงค์ให้ผลนั้นเกิดในราชอาณาจักร หรือโดยลักษณะแห่งการกระทำ ผลที่เกิดขึ้นควรเกิดในราชอาณาจักรหรือย่อมจะเล็งเห็นได้ว่าผลนั้นจะเกิดในราชอาณาจักรก็ดี ให้ถือว่าความผิดนั้นได้กระทำในราชอาณาจักร
              ในกรณีการตระเตรียมการ หรือพยายามกระทำการใดซึ่งกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด แม้การกระทำนั้นจะได้กระทำนอกราชอาณาจักร ถ้าหากการกระทำนั้นจะได้กระทำตลอดไปจนถึงขั้นความผิดสำเร็จ ผลจะเกิดขึ้นในราชอาณาจักร ให้ถือว่า การตระเตรียมการหรือพยายามกระทำความผิดนั้นได้กระทำในราชอาณาจักร"
             "มาตรา ๖  ความผิดใดที่ได้กระทำในราชอาณาจักร หรือที่ประมวลกฎหมายนี้ถือว่าได้กระทำในราชอาณาจักร แม้การกระทำของผู้เป็นตัวการด้วยกัน ของผู้สนับสนุน หรือของผู้ใช้ให้กระทำความผิดนั้นจะได้กระทำนอกราชอาณาจักร ก็ให้ถือว่าตัวการ ผู้สนับสนุน หรือผู้ใช้ให้กระทำได้กระทำในราชอาณาจักร"
             "มาตรา ๗  ผู้ใดกระทำความผิดดังระบุไว้ต่อไปนี้นอกราชอาณาจักร จะต้องรับโทษในราชอาณาจักร คือ
                          (๑) ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๐๗ ถึงมาตรา ๑๒๙ (๑/๑) ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓๕/๑ มาตรา ๑๓๕/๒ มาตรา ๑๓๕/๓ และมาตรา ๑๓๕/๔
                          (๒) ความผิดเกี่ยวกับการปลอมและการแปลง ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๔๐ ถึงมาตรา ๒๔๙ มาตรา ๒๕๔ มาตรา ๒๕๖ มาตรา ๒๕๗ และมาตรา ๒๖๖ (๓) และ (๔) (๒ ทวิ) ความผิดเกี่ยวกับเพศตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๘๒ และมาตรา ๒๘๓
                          (๓) ความผิดฐานชิงทรัพย์ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๓๙ และความผิดฐานปล้นทรัพย์ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๔๐ ซึ่งได้กระทำในทะเลหลวง"

              "มาตรา ๘  ผู้ใดกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร และ  
                          (ก) ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนไทย และรัฐบาลแห่งประเทศที่ความผิดได้เกิดขึ้น หรือผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษ หรือ
                          (ข) ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนต่างด้าว และรัฐบาลไทยหรือคนไทยเป็นผู้เสียหาย และผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษ
              ถ้าความผิดนั้นเป็นความผิดดังระบุไว้ต่อไปนี้ จะต้องรับโทษภายในราชอาณาจักร คือ
                          (๑) ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๑๗ มาตรา ๒๑๘ มาตรา ๒๒๑ ถึงมาตรา ๒๒๓ ทั้งนี้เว้นแต่กรณีเกี่ยวกับมาตรา ๒๒๐ วรรคแรก และมาตรา ๒๒๔ มาตรา ๒๒๖ มาตรา ๒๒๘ ถึงมาตรา ๒๓๒ มาตรา ๒๓๗ และมาตรา ๒๓๓ ถึงมาตรา ๒๓๖ ทั้งนี้เฉพาะเมื่อเป็นกรณีต้องระวางโทษตามมาตรา ๒๓๘
                           (๒) ความผิดเกี่ยวกับเอกสาร ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖๔ มาตรา ๒๖๕ มาตรา ๒๖๖(๑) และ (๒) มาตรา ๒๖๘ ทั้งนี้เว้นแต่กรณีเกี่ยวกับมาตรา ๒๖๗ และมาตรา ๒๖๙
                                 (๒/๑) ความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖๙/๑ ถึงมาตรา ๒๖๙/๗
                                 (๒/๒) ความผิดเกี่ยวกับหนังสือเดินทางตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖๙/๘ ถึงมาตรา ๒๖๙/๑๕
                           (๓) ความผิดเกี่ยวกับเพศ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๗๖ มาตรา ๒๘๐ และมาตรา ๒๘๕ ทั้งนี้เฉพาะที่เกี่ยวกับมาตรา ๒๗๖
                           (๔) ความผิดต่อชีวิต ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๘๘ ถึงมาตรา ๒๙๐
                           (๕) ความผิดต่อร่างกาย ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๙๕ ถึงมาตรา ๒๙๘
                           (๖) ความผิดฐานทอดทิ้งเด็ก คนป่วยเจ็บหรือคนชรา ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๐๖ ถึงมาตรา ๓๐๘
                           (๗) ความผิดต่อเสรีภาพ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๐๙ มาตรา ๓๑๐ มาตรา ๓๑๒ ถึงมาตรา ๓๑๕ และมาตรา ๓๑๗ ถึงมาตรา ๓๒๐
                           (๘) ความผิดฐานลักทรัพย์และวิ่งราวทรัพย์ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๓๔ ถึงมาตรา ๓๓๖
                           (๙) ความผิดฐานกรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ และปล้นทรัพย์ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๓๗ ถึงมาตรา ๓๔๐
                           (๑๐) ความผิดฐานฉ้อโกง ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๔๑ ถึงมาตรา ๓๔๔ มาตรา ๓๔๖ และมาตรา ๓๔๗
                           (๑๑) ความผิดฐานยักยอก ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๕๒ ถึงมาตรา ๓๕๔
                           (๑๒) ความผิดฐานรับของโจร ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๕๗
                           (๑๓) ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๕๘ ถึงมาตรา ๓๖๐"
                 "มาตรา ๙  เจ้าพนักงานของรัฐบาลไทยกระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๔๗ ถึงมาตรา ๑๖๖ และมาตรา ๒๐๐ ถึงมาตรา ๒๐๕ นอกราชอาณาจักร จะต้องรับโทษในราชอาณาจักร"

(*ข้อพิจารณา.- ข้อสอบเนติบัณฑิต สมัยที่ ๕๑ ปีการศึกษา ๒๕๔๑ กรณีเกี่ยวกับเรื่องการกระทำผิดบนเครื่องบินของบริษัทการบินไทย จำกัด ขณะที่เครื่องบินกำลังบินอยู่เหนือน่านฟ้าประเทศสิงคโปร์ ธงคำตอบเฉลยว่า การกระทำผิดตาม ป.อ. บนเครื่องบินของบริษัทสายการบินไทย ขณะกำลังบินอยู่เหนือน่านฟ้าของประเทศสิงคโปร์ เป็นกรณีที่การกระทำความผิดเกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร แม้การกระทำความผิดในอากาศยานไทยกฎหมายจะบัญญัติให้ถือว่าเป็นการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นในราชอาณาจักร ตาม ป.อ. มาตรา ๔ วรรคสอง ก็ตาม แต่อยู่ภายใต้บังคับ ป.วิ.อ มาตรา ๒๐
                ข้อสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา พ.ศ.๒๕๐๐ ข้อ ๕ และข้อสอบคัดเลือกอัยการผู้ช่วย ปี ๒๕๔๑ ข้อ ๑ ธงคำตอบเฉลยว่า การกระทำผิดบนเรือไทย หรืออากาศยานไทยขณะที่อยู่นอกราชอาณาจักร แม้กฎหมายให้ถือว่ากระทำผิดในราชอาณาจักร แต่อยู่ภายใต้บังคับ ป.วิ.อ มาตรา ๒๐ เช่นเดียวกัน
                จึงสอดคล้องกับแนวความเห็นของสำนักงานอัยการสูงสุดว่า กรณีความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๔ วรรคสอง อยู่ภายใต้บังคับของ ป.วิ.อ มาตรา ๒๐ ด้วยเช่นกัน ซึ่งแตกต่างจาก คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๒๖๗๐/๒๕๓๕ ที่วินิจฉัยว่า เหตุเกิดขึ้นในเรือไทย เป็นการกระทำความผิดในราชอาณาจักร พนักงานสอบสวนกองปราบปรามมีอำนาจสอบสวนคดีอาญาได้ทั่วราชอาณาจักร จึงมีอำนาจสอบสวน
                ตามบัญญัติของประมวลกฎหมายอาญาดังกล่าวข้างต้น เป็นบทบัญญัติที่กําหนดความรับผิดของบุคคลในทางอาญา แต่ไม่ใช่บทบัญญัติเกี่ยวกับตัวบุคคลที่มีอํานาจหน้าที่ในการสอบสวน โดยกำหนดให้สถานที่ในการกระทําผิดคือในเรือไทยหรืออากาศยานไทยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 4 หรือลักษณะของการกระทําผิดและผู้ร่วมกระทําผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 5 , 6 ให้ถือว่าเป็นความผิดในราชอาณาจักร
                ดังนั้น ความผิดใดที่มีโทษตามกฎหมายไทยได้กระทํานอกราชอาณาจักร จะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่า ความผิดนั้นได้ทําลงนอกราชอาณาจักร ตามความเป็นจริง โดยถือเอาการกระทําเป็นหลัก
                ฉะนั้น ความผิดในเรือไทยหรืออากาศยานไทย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 4 วรรคสอง ที่อยู่นอกอาณาเขตราชอาณาจักรไทย และความผิดนอกราชอาณาจักร ซึ่งกฎหมายให้ถือว่าเป็นความผิดในราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 5 และ 6 จึงเป็นความผิดนอกราชอาณาจักร
               สำหรับกรณีอัยการสูงสุด หรือผู้รักษาการแทน มอบหมายให้พนักงานอัยการคนใดทำการสอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวน  ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒๐ วรรคสอง ให้พนักงานสอบสวนปฏิบัติตามคำสั่งและคำแนะนำของพนักงานอัยการในเรื่องที่เกี่ยวกับการรวบรวมพยานหลักฐานด้วย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒๐ วรรคสี่ แต่การทำความเห็นว่าควรสั่งฟ้องหรือควรสั่งไม่ฟ้องนั้น พนักงานอัยการที่ทำการสอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจสั่งให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีนั้นทำตามความเห็นของพนักงานอัยการที่ร่วมทำการสอบสวน  เพราะการสรุปสำนวนและการทำความเห็นเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ  กรณีพนักงานอัยการร่วมทำการสอบสวนไม่ใช่เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ จึงไม่มีอำนาจหน้าที่ทำการสรุปสำนวนและทำความเห็น  ตาม ป.วิ.อ. ม.๑๔๐ ทั้ง ป.วิ.อ. ม.๒๐ วรรคสามและวรรคสี่ ก็ไม่ได้ให้อำนาจไว้ แต่ถ้าอัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทน มอบหมายหน้าที่การเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีนั้นให้พนักงานอัยการคนใด พนักงานอัยการคนนั้นก็เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีนั้น ตาม ป.วิ.อ. ม.๑๔๐ เมื่อพนักงานอัยการคนนั้นเห็นว่าการสอบสวนเสร็จแล้วก็ทำการสรุปสำนวนและทำความเห็นควรสั่งฟ้อง หรือควรสั่งไม่ฟ้อง ตาม ป.วิ.อ. ม. ๑๔๐ ,๑๔๑ หรือ ๑๔๒ ได้เอง และส่งความเห็นพร้อมสำนวนไปยังอัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนเพื่อสั่งต่อไป

การสอบสวน
              พนักงานอัยการจะเข้าไปทำการสอบสวนคดีความผิดซึ่งมีโทษตามกฎหมายไทยได้กระทำนอกราชอาณาจักรได้ ๒ กรณีคือ
              ๑. การเข้าร่วมสอบสวนกับพนักงานสอบสวนอื่นที่อัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนได้มอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบทำการสอบสวนแทน ให้พนักงานอัยการมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานสอบสวนและให้พนักงานสอบสวนปฏิบัติตามคำสั่งและคำแนะนำของพนักงานอัยการในเรื่องที่เกี่ยวกับการรวบรวมพยานหลักฐานเท่านั้น
              ๒. การสอบสวนในฐานะที่ได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนที่ได้มอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบทำการสอบสวนแทน

             สำนักงานอัยการสูงสุดได้ออกระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ (ฉบับที่ ๘) พ.ศ.๒๕๕๑ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๑ เกี่ยวกับการสอบสวนคดีความผิดซึ่งมีโทษตามกฎหมายไทยที่ได้กระทำลงนอกราชอาณาจักร โดยให้ยกเลิกความในข้อ ๒๘ ถึงข้อ ๓๑ ของระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ.๒๕๔๗ มีสาระสำคัญ คือ
              “ข้อ ๒๘ (การสอบสวนคดีความผิดซึ่งมีโทษตามกฎหมายไทยที่ได้กระทำลงนอกราชอาณาจักรไทย)
                กรณีที่อัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในคดีความผิดซึ่งมีโทษตามกฎหมายไทยที่ได้กระทำลงนอกราชอาณาจักรไทยและได้มอบหมายให้พนักงานอัยการคนใดเป็นผู้รับผิดชอบทำการสอบสวนแทน ให้พนักงานอัยการผู้นั้นทำการสอบสวนโดยไม่ชักช้าและรายงานผลการสอบสวนให้อัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนทราบเป็นระยะ
                กรณีที่อัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนได้มอบหมายหน้าที่นั้นให้พนักงานสอบสวนคนใดเป็นผู้รับผิดชอบทำการสอบสวนแทนแล้ว หากอัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนได้มอบหมายให้พนักงานอัยการคนใดร่วมสอบสวนกับพนักงานสอบสวนดังกล่าว ให้พนักงานอัยการที่ได้รับมอบหมายนั้นดำเนินการดังต่อไปนี้
                (๑) หารือร่วมกับพนักงานสอบสวนเพื่อกำหนดแนวทางการสอบสวน
                (๒) ร่วมสอบสวนพยานหรือผู้ต้องหา และเข้าร่วมหรือมีคำสั่งหรือให้คำแนะนำพนักงานสอบสวนในการรวบรวมพยานหลักฐานอื่นตามที่เห็นสมควร
                (๓) รายงานผลการสอบสวนให้อัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนทราบเป็นระยะ”

              “ข้อ ๒๙ (การพิจารณาสั่งคดีเกี่ยวกับความผิดที่ได้กระทำลงนอกราชอาณาจักรไทย)
                ในกรณีที่อัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนมิได้มีคำสั่งเป็นอย่างอื่น เมื่อการสอบสวนคดีความผิดซึ่งมีโทษตามกฎหมายไทยที่ได้กระทำลงนอกราชอาณาจักรไทยตามข้อ ๒๘ เสร็จสิ้นแล้ว ให้ทำความเห็นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๔๐ มาตรา ๑๔๑ หรือมาตรา ๑๔๒ ส่งพร้อมสำนวนไปยังอัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนเพื่อสั่ง โดยส่งให้พนักงานอัยการในท้องที่ซึ่งมีเขตอำนาจดำเนินคดีรับไว้แล้วส่งอัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนสั่งต่อไป...”

กรณีศึกษา
                ผู้ต้องหาโพสต์ข้อความอันเป็นการใส่ความหมิ่นประมาทผู้เสียหายด้วยการโฆษณาผ่านระบบอินเตอร์เน็ตทาง www.Facebook.com โดยทั้งสองฝ่ายอยู่ในราชอาณาจักรไทยด้วยกัน พนักงานสอบสวนทำหนังสือสอบถามไปยัง บก.ปอท. ชื่อเต็ม “กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี” เพื่อให้ตรวจสอบชื่อ ที่อยู่เจ้าของ Facebook ดังกล่าว
                บก.ปอท. ได้มีหนังสือสอบถามไปยัง ICT "กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร" แล้ว สำนักงานปลัดกระทรวงฯ แจ้งว่า Facebook ไม่มีการแสดง IP Address บนหน้าสาธารณะ และผู้ให้บริการ Facebook มีถิ่นฐานและที่ตั้งทำการอยู่ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่ง ICT ไม่ได้เก็บข้อมูลใด ๆ เกี่ยวกับเวปไซต์ Facebook ดังนั้น จึงไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลได้
                คดีนี้พนักงานอัยการจังหวัด พิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จตาม ป.อ. มาตรา ๓๒๘, ๓๓๒ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๑๔ (๑) โดยปรากฏหลักฐานเป็นหนังสือแจ้งผลการดำเนินการตรวจสอบข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ จาก ICT ว่า Facebook มีถิ่นฐานและที่ตั้งทำการอยู่นอกราชอาณาจักร กรณีจึงเป็นความผิดนอกราชอาณาจักร ถึงแม้ผู้ต้องหาและผู้เสียหายจะอยู่ในประเทศไทยก็ตาม
               ในเรื่องนี้อัยการสูงสุด พิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้เสียหายและผู้ต้องหาเป็นคนไทยและมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย ประกอบกับพฤติการณ์นำเข้าข้อความหมิ่นประมาท ได้กระทำผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารทางโปรแกรม Facebook โดยไม่ปรากฏว่าการกระทำความผิดด้วยการนำเข้าข้อความหมิ่นประมาทและการเปิด Facebook พบเห็นข้อความหมิ่นประมาท ได้มีการกระทำ ณ ที่ใดหรือการกระทำความผิดส่วนหนึ่งส่วนใดได้กระทำขณะอยู่นอกราชอาณาจักรไทย การที่โปรแกรม Facebook มีที่ตั้งถิ่นฐานที่เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์อยู่นอกราชอาณาจักรไทย ก็เป็นเพียงที่เก็บข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมการทำงานของระบบคอมพิวเตอร์เท่านั้น คดีนี้จึงมีพยานหลักฐานไม่เพียงพอที่จะพิจารณาว่าการกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิดซึ่งมีโทษตามกฎหมายไทย ได้กระทำลงนอกราชอาณาจักรไทยที่จะให้อัยการสูงสุดจะเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒๐
               ในการแสวงหาพยานหลักฐาน ผู้เขียนเห็นว่า พนักงานสอบสวนควรเริ่มทำการสืบสวนสอบสวนหา IP Address เพื่อจะทราบชื่อที่อยู่ของผู้ใช้ Facebook ด้วยตนเองหรือขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานสืบสวนของตำรวจในภาคของตนเอง เช่น กก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สส.ภาค  ช่วยดำเนินการสืบหาให้ ซึ่งมีวิธีการหลากหลายที่นักสืบยุคไอที สามารถแสวงหาเอามาได้โดยไม่ยากนัก และจะได้ผลดีกว่าการสอบถามไปยัง ICT หรือผู้ให้บริการ Facebook โดยตรง เมื่อได้ IP Address มาแล้ว ก็ให้สอบถามไปยังบริษัทผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต เพียงเท่านี้ก็จะสามารถรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อยันยันการกระทำผิดของผู้ต้องหาได้โดยง่าย
                ข้อแนะนำการเขียนหนังสือราชการส่งไปยัง อัยการสูงสุด จะใช้คำขึ้นต้นว่า "กราบเรียน.." ใช้คำลงท้ายว่า "จึงกราบเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา" และ "ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง"

บทความที่เกี่ยวข้อง
-  ฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ