วันเสาร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2557

คดีพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2880/2548
ป.วิ.อ. มาตรา 19
              ผู้เสียหายพักอาศัยอยู่กับอาในเขตท้องที่รับผิดชอบของ สภ.คูคต จำเลยพรากผู้เสียหายไป พาผู้เสียหายไปพักและกระทำชำเราผู้เสียหายในหลายท้องที่ต่างกัน จึงเป็นกรณีไม่แน่ว่าการกระทำความผิดอาญาได้กระทำในท้องที่ใดในระหว่างหลายท้องที่ และความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไป และเป็นความผิดเกิดขึ้นขณะผู้เสียหายกำลังเดินทาง พนักงานสอบสวนในท้องที่ใดท้องที่หนึ่งที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 วรรคหนึ่ง (1) (3) (6) และวรรคสอง พนักงานสอบสวนสภ.คูคต จึงมีอำนาจสอบสวนคดีนี้ได้
              พ. อาของผู้เสียหายไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สน.บางเขน แต่พนักงานสอบสวนไม่รับแจ้งความร้องทุกข์ เนื่องจาก พ. และผู้เสียหายพักอยู่ที่บ้านในเขตท้องที่ สภ.คูคต จึงเท่ากับไม่มีการแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สน.บางเขน พ. จึงไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สภ.คูคต
              ต่อมา จำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมได้ที่อำเภอเขาพนม จังหวัดกระบี่ ดังนั้น พนักงานสอบสวน สภ.คูคต จึงเป็นพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่พบการกระทำความผิดก่อน จึงเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตามมาตรา 19 วรรคสาม (ข) มีอำนาจสรุปสำนวนและทำความเห็นควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง ส่งไปพร้อมสำนวนเพื่อให้พนักงานอัยการพิจารณาตามมาตรา 140, 141 ได้ การสอบสวนคดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1974/2539
ป.อ. มาตรา 91, 276, 284, 310 ป.วิ.อ. มาตรา 19, 30, 120, 140, 141
               ความผิดฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจารโดยใช้อุบายหลอกลวงเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไป และความผิดฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจารตามที่โจทก์นำสืบ กับความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นและข่มขืนกระทำชำเราเป็นความผิดซึ่งมีหลายกรรมกระทำลงในท้องที่ต่างๆกันรวมทั้งในท้องที่ สน.บางยี่ขัน กรุงเทพมหานคร และ สภ.ท่ามะกา จว.กาญจนบุรี ซึ่งพนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 19 วรรคหนึ่ง (3) (4) และวรรคสอง
               ฉะนั้น พันตำรวจโท ว. พนักงานสอบสวน สน.บางยี่ขัน ในขณะเกิดเหตุซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้อง จึงมีอำนาจสอบสวนคดีนี้ แต่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองถูกจับที่อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวนกรณีจับผู้ต้องหาได้แล้ว เช่นนี้ จึงเป็นที่แน่ชัดว่าคือพนักงานสอบสวน สภ.ท่ามะกา ซึ่งเป็นท้องที่ที่จับได้อยู่ในเขตอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19 วรรคสาม (ก)
                การที่พันตำรวจโท ว. ได้ทำการสอบสวนคดีนี้หลังจากจับจำเลยทั้งสองได้แล้ว พันตำรวจโท ว. คงเป็นพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจสอบสวนเท่านั้น แต่พันตำรวจโท ว. มิได้เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ทั้งมิใช่กรณีที่จับผู้ต้องหายังไม่ได้อันจะถือว่าพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่พบการกระทำผิดก่อนอยู่ในเขตอำนาจเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19 วรรคสาม (ข) ได้
                  เมื่อพันตำรวจโท ว. มิใช่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบซึ่งมีอำนาจสรุปสำนวนและทำความเห็นว่าควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องส่งไปพร้อมกับสำนวนเพื่อให้พนักงานอัยการพิจารณาตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 140 และ 141 แม้จะดำเนินการสอบสวนต่อไปจนเสร็จก็ถือไม่ได้ว่าได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อนโดยชอบ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง