วันอาทิตย์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2560

ดุลยพินิจพนักงานสอบสวนในการสืบหาพยานหลักฐาน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3334/2558
ป.วิ.อ. ม. 158 (5)
             ป.วิ.อ. ม. 131 ถึง 134 ได้วางหลักเรื่องการสอบสวนคดีว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะสืบหาพยานหลักฐานมาประกอบในการดำเนินคดีตามที่ได้รับแจ้ง และ “เป็นดุลพินิจของพนักงานสอบสวน” ที่จะเรียกบุคคลใดมาเป็นพยานหรือหมายเรียกเอกสารที่เกี่ยวข้องมาเป็นพยานหรือไม่ก็ได้
             เมื่อคดีนี้พนักงานสอบสวนสอบปากคำและรวบรวมพยานหลักฐานแล้ว “มีความเห็นควรสั่งฟ้อง” จำเลยในข้อหาตามที่แจ้งข้อกล่าวหา เนื่องจากผู้เสียหายยืนยันว่าบุคคลที่ระบุไว้ในอีเมล์เข้าใจได้ว่าเป็นผู้เสียหาย แม้ไม่ได้สืบสวนพยานหลักฐานอื่นอีก “ก็เป็นดุลพินิจของพนักงานสอบสวนตามบทบัญญัติดังกล่าว” การสอบสวนคดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
            ส่วนการบรรยายฟ้องใน “ความผิดฐานหมิ่นประมาท” ตามที่จำเลยอ้างว่า โจทก์ต้องบรรยายให้จำเลยเข้าใจโดยชัดเจนว่าคำดังกล่าว คือ “นังมารร้าย นางมารร้าย นังยักษ์ขมูขี นางยักษ์ ชี” นั้นทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจได้ว่าหมายถึงตัวผู้เสียหาย
            เมื่อคดีนี้คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายถึงข้อความครบถ้วนตาม ป.วิ.อ. ม.158 (5) แล้ว อีกทั้งยังระบุข้อเท็จจริงและรายละเอียด พร้อมทั้งข้อความอันเกี่ยวกับข้อหาหมิ่นประมาท จึงเพียงพอที่จะทำให้จำเลยสามารถเข้าใจข้อหาได้ดี และบุคคลทั่วไปก็เข้าใจได้ว่าถ้อยคำและข้อความดังกล่าวหมายถึงผู้เสียหาย “จึงหาจำต้องบรรยายให้ชัดเจน” ตามที่จำเลยกล่าวอ้างไม่ ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. ม. 158 (5) แล้ว

การสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนซึ่งเป็นหญิง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3419/2559
ป.วิ.อ. มาตรา 133 การสอบสวนปากคำผู้เสียหาย
             จำเลยฎีกาว่าคดีนี้เป็นคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ การถามปากคำผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นหญิงในชั้นสอบสวนต้องให้พนักงานสอบสวนซึ่งเป็นหญิงเป็นผู้สอบสวน เว้นแต่ผู้เสียหายที่ 1 นั้นยินยอมหรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่น และให้บันทึกความยินยอมหรือเหตุจำเป็นนั้นไว้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 133 วรรคสี่ แต่พนักงานสอบสวนคดีนี้เป็นชายและไม่ได้มีบันทึกความยินยอมหรือเหตุจำเป็นนั้นไว้ จึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบและพนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง
             ศาลฎีกาวินิจฉัยฎีกาของจำเลยแล้วเห็นว่า การที่พนักงานสอบสวนคดีนี้ไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 133 วรรคสี่ แม้จะเป็นการไม่ชอบแต่ก็หามีผลทำให้การสอบสวนเสียไปทั้งหมดและถือเท่ากับไม่มีการสอบสวนในความผิดนั้นมาก่อนอันจะทำให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 ไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น