วันเสาร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

คดีพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๘๐๕/๒๕๕๕
ป.อ.  พยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน  (มาตรา ๒๘๙ , ๘๐)
ป.วิ.อ.  การแจ้งข้อหา อำนาจฟ้อง  (มาตรา ๑๒๐ , ๑๓๔ วรรคหนึ่ง  วรรคสอง)
               การที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาให้จำเลยที่ ๑ ทราบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๓๔ เป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งของการสอบสวนเพื่อให้ผู้ต้องหารู้ตัวก่อนว่า ตนจะถูกสอบสวนในคดีความผิดเรื่องใดและการกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิด เพื่อให้ผู้ต้องหาเข้าใจถึงการกระทำของผู้ต้องหาซึ่งเป็นความผิดนั้น โดยไม่ต้องแจ้งข้อหาทุกกระทงความผิด เมื่อแจ้งข้อหาอันเป็นหลักแห่งความผิดแล้ว ก็ไม่จำต้องแจ้งข้อหาความผิดอันเกี่ยวพันกันด้วยอีก พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนความผิดทุกข้อหาได้
              คดีนี้เมื่อพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาว่า จำเลยที่ ๑ ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นแล้ว แม้ไม่แจ้งข้อหาว่าร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ถือได้ว่า มีการสอบสวนความผิดดังกล่าวแล้ว พนักงานอัยการมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๑ ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนได้

(*ข้อพิจารณา.- แต่เดิมมาพนักงานอัยการจะยึดถือว่า พนักงานสอบสวนจะสอบสวนผู้ต้องหาในข้อหาใดพนักงานสอบสวนต้องแจ้งข้อหานั้น ๆ ให้ผู้ต้องหาทราบเสียก่อน โดยจะดูจากบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาว่า พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาใดไว้บ้าง แล้วพนักงานอัยการก็จะสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องเฉพาะข้อหาที่แจ้งไว้
               ถ้าหากตรวจสำนวนแล้วพนักงานอัยการพบว่า มีการกระทำความผิดที่มีข้อหาเพิ่มเติมหรือมีการกระทำความผิดในข้อหาที่มีอัตราโทษสูงกว่าข้อหาที่แจ้งไว้ พนักงานอัยการก็จะสั่งให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาเพิ่มเติมและให้สอบสวนผู้ต้องหาให้การเพิ่มเติมมา ก่อนมีคำสั่งทางคดี จึงจะถือว่าได้มีการสอบสวนการกระทำผิดในข้อหานั้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๒๐
               แต่ปัจจุบัน ป.วิ.อ. มาตรา ๑๓๔ มีการแก้ไขเพิ่มเติม โดยให้พนักงานสอบสวนแจ้งพฤติการณ์และข้อเท็จจริงที่กล่าวหาว่าผู้ต้องหาได้กระทำความผิดให้ผู้ต้องหาทราบก่อนการแจ้งข้อหา ดังนั้น ศาลฎีกาจึงได้วินิจฉัยกรณีเกี่ยวกับการแจ้งข้อหาที่ให้ถือว่าเป็นการสอบสวนเป็นแนวเดียวกันตลอดมา
               สำหรับการสั่งคดีของพนักงานอัยการ หากมีการแจ้งข้อหาไว้ชัดแจ้งในการสอบสวน พนักงานอัยการก็สั่งคดีตามข้อหาที่แจ้งนั้น แต่กรณีที่ไม่ได้แจ้งข้อหาไว้แต่ถือว่าเป็นการสอบสวนในข้อหานั้น ๆ แล้ว มีหลายแนวทางที่ควรต้องศึกษาไว้ให้ดี เพราะเกี่ยวข้องกับ ป.วิ.อ. มาตรา ๑๐๒ ที่จะทำให้พนักงานอัยการมีอำนาจฟ้องได้ เช่น
               คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๙๑๗/๒๕๕๔  แจ้งข้อหาพยายามฆ่าและ พ.ร.บ.อาวุธปืน แม้ไม่แจ้งข้อหาพาอาวุธมีด แต่เมื่อสอบสวนแล้ว พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังครั้งที่ ๑ บรรยายการกระทำความผิดของจำเลยพร้อมระบุประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๗๑ ไว้ด้วย ถือว่าได้มีการสอบสวนในความผิดฐานพาอาวุธมีดด้วยแล้ว)