วันเสาร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2557

คดีปลอมและใช้เอกสารปลอม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4679/2554
ป.วิ.อ. มาตรา 19 (1), 19 (4), 121, 218 วรรคหนึ่ง
              แม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในฎีกาของจำเลยเพียงว่า “รับเฉพาะฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย ส่วนฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงในข้อ 3 ให้รอไว้สั่ง เมื่อผู้พิพากษาศาลชั้นต้นและผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิจารณาคำร้องขอให้อนุญาตให้ฎีกาเสร็จแล้ว” แต่เมื่อผู้พิพากษาศาลชั้นต้นและผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่อนุญาตให้ฎีกา ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งเกี่ยวกับฎีกาของจำเลยอีก กลับส่งสำนวนมาศาลฎีกาโดยไม่ได้แจ้งคำสั่งให้จำเลยทราบ แต่เมื่อจำเลยฎีกาในข้อ 3 ว่า พยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องและขอให้รอการลงโทษจำเลยไว้ จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง เพื่อมิให้คดีล่าช้า ศาลฎีกาเห็นควรสั่งไม่รับฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงในข้อ 3 โดยไม่จำต้องย้อนสำนวน
              ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นความผิดต่อศาลในการดำเนินกระบวนพิจารณาและรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณศาล เป็นเรื่องต่างหากจากความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารสำเนาคำสั่งศาลชั้นต้นปลอมในคดีนี้ แม้ศาลฎีกายกฟ้องความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เนื่องจากฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยไม่ได้กระทำในศาล ไม่ได้วินิจฉัยว่าจำเลยปลอมหรือใช้คำสั่งศาลปลอมหรือไม่ จำเลยจะนำคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวมาเป็นเหตุอ้างว่าไม่มีความผิดในคดีนี้หาได้ไม่
             จำเลยปลอมเอกสารสำเนาคำสั่งศาลชั้นต้น ที่ตั้ง ท. เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย เมื่อ ท. นำสำเนาคำสั่งศาลชั้นต้นปลอมดังกล่าวไปอ้างส่งต่อศาลชั้นต้นในการไต่สวนคดีละเมิดอำนาจศาล ว่าตนไม่มีส่วนรู้เห็นในการปลอมอันจะเป็นการละเมิดอำนาจศาล จึงถือว่ามีการใช้เอกสารสำเนาคำสั่งศาลชั้นต้นปลอมในท้องที่ สภ.เมืองขอนแก่น ซึ่งศาลชั้นต้นตั้งอยู่ในเขตอำนาจสอบสวน เมื่อขณะนั้นยังไม่แน่ว่าบุคคลใดเป็นผู้ปลอมคำสั่งศาลดังกล่าว และการกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารได้กระทำในท้องที่ใด แม้จำเลยจะมอบคำสั่งศาลปลอมให้แก่ ท. ในเขตท้องที่อำเภอภูเวียงก็ตาม กรณีเป็นที่เห็นได้ว่าเป็นการไม่แน่ว่าความผิดฐานปลอมเอกสารได้กระทำในท้องที่ใด ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 (1) นอกจากนี้หากการปลอมคำสั่งศาลไม่ได้ทำในท้องที่ สภ.เมืองขอนแก่น ก็เป็นกรณีที่การปลอมคำสั่งศาลชั้นต้น และ ท. นำสำเนาคำสั่งศาลชั้นต้นปลอมไปอ้างส่งต่อศาลชั้นต้นเป็นความผิดหลายกรรมกระทำลงในท้องที่ต่าง ๆ กัน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 (4) ด้วยแล้ว พนักงานสอบสวน สภ.เมืองขอนแก่น จึงมีอำนาจสอบสวนและเป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวนคดีนี้ได้
              ความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารสำเนาคำสั่งศาลชั้นต้นปลอมเป็นคดีอาญาความผิดต่อแผ่นดิน มิใช่ความผิดต่อส่วนตัวที่ต้องมีการร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคหนึ่ง โดยไม่ต้องมีการร้องทุกข์ กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าศาลชั้นต้นเป็นผู้เสียหายที่สามารถร้องทุกข์หรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  825/2506
ป.วิ.อ. มาตรา 19, 120, 158, 172
ป.อ. มาตรา 1(9), 265, 268
              จำเลยชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เพียง 10,000 บาทแล้วจำเลยแก้ไขจำนวนเงินในใบรับเงินที่เจ้าหนี้เซ็นชื่อเป็นผู้รับเงิน โดยแก้ 10,000 บาท เป็น 70,000 บาท ต่อมาจำเลยคัดสำเนาใบรับเงินที่ปลอมนั้นมาแสดงต่อศาลทำให้เจ้าหนี้ได้รับความเสียหายเพราะถ้าศาลหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงแล้ว เจ้าหนี้จะต้องขาดเงินที่ควรได้รับชำระหนี้ไป 60,000 บาท การปลอมของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา 264 แล้ว และเอกสารนี้เป็นใบรับเงินชำระหนี้แสดงว่าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ในจำนวนเงินนี้ระงับไปแล้วจำเลยจึงมีความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิตามมาตรา 265 และการที่จำเลยคัดสำเนาเอกสารที่ปลอมแสดงต่อศาลเป็นการอ้างถึงเอกสารที่ปลอม จึงเป็นความผิดตามมาตรา 268 ด้วยต้องลงโทษจำเลยตามมาตรา 268 ตามอัตราโทษในมาตรา 265
            คำบรรยายฟ้องที่แสดงว่าวันเวลาที่ระบุไว้นั้น หมายถึง วันเวลาที่ปลอม กับที่ใช้เอกสารปลอมด้วย
            จำเลยที่ 2 ชำระเงินให้เจ้าหนี้และเจ้าหนี้ออกใบรับเงินที่บ้านในท้องที่บุบผาราม จำเลยที่ 1 และที่ 2 อยู่ที่เทเวศร์  จำเลยที่ 1 ปลอมใบรับเงินนั้นที่ไหนไม่ปรากฏ แต่เอามาใช้อ้างที่ศาลแพ่ง จำเลยที่ 1 ถูกจับในท้องที่นางเลิ้ง ส่วนจำเลยที่ 2 ถูกจับที่ สน.บุบผาราม เมื่อเป็นการไม่แน่ว่าการกระทำผิดได้กระทำในท้องที่ใด แต่จำเลยที่ 2 ถูกจับที่ สน.บุบผาราม เช่นนี้ พนักงานสอบสวน สน.บุบผาราม จึงมีอำนาจสอบสวนคดีนี้ได้และย่อมสอบสวนจำเลยที่ 1 ได้ด้วย เพราะมีข้อหาว่าร่วมกันกระทำผิดในคดีนี้ด้วย