วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

การตรวจค้นจับกุมเป็นขั้นตอนแยกจากการสอบสวน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13981/2553     
ป.วิ.อ. การสอบสวน อำนาจฟ้อง (มาตรา 120)
             การตรวจค้นโดยไม่มีหมายค้น และการจับกุมโดยไม่มีหมายจับ และไม่เป็นความผิดที่ได้กระทำโดยซึ่งหน้าของเจ้าพนักงานตำรวจ จะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองจะต้องไปว่ากล่าวกันอีกส่วนหนึ่งต่างหาก เป็นคนละขั้นตอนกับการสอบสวน ไม่มีผลกระทบไปถึงการสอบสวนของพนักงานสอบสวนและอำนาจในการฟ้องคดีของโจทก์
             คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่ามีการสอบสวนแล้ว จำเลยฎีกาอ้างว่าการตรวจค้นและจับกุมเป็นการไม่ชอบ โดยไม่ได้ฎีกาว่าการสอบสวนไม่ชอบเพราะเหตุผลอื่น ต้องถือว่า การสอบสวนในความผิดที่กล่าวหาตามฟ้องชอบแล้ว  

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1493/2550 
ป.วิ.อ. การสอบสวน อำนาจฟ้อง (มาตรา 120)
             การตรวจค้นบ้านจำเลยและการจับกุมของเจ้าพนักงานตำรวจจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เป็นเรื่องที่จะต้องไปว่ากล่าวกันอีกส่วนหนึ่งต่างหาก และเป็นคนละขั้นตอนกับการสอบสวน ไม่มีผลกระทบไปถึงการสอบสวนของพนักงานสอบสวนและอำนาจในการฟ้องคดีของโจทก์ ทั้งหามีผลทำให้การแสวงหาพยานหลักฐานของเจ้าพนักงานตำรวจที่ชอบเป็นไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วยไม่
            การวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 1 ไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป ฎีกาของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฏีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 99/2541
ป.วิ.อ. การสอบสวน อำนาจฟ้อง (มาตรา 120)
            แม้การจับกุมจะมิชอบด้วยกฎหมายประการใดหรือไม่ก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่จะต้องไปว่ากล่าวต่อกันอีกส่วนหนึ่งต่างหากไม่กระทบกระเทือนถึงการฟ้องคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 จำเลยจะยกขึ้นฎีกาในปัญหาข้อนี้มิได้
           ส่วนที่จำเลยฎีกาตอนหนึ่งว่าการสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะมิได้ทำต่อหน้าทนายความหรือให้โอกาสแก่จำเลยได้พบและปรึกษากับทนายความก่อนนั้น ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังไม่มีปัญหาเข้าสู่การวินิจฉัยของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 เนื่องจากจำเลยไม่เคยยกปัญหานี้ขึ้นโต้แย้งในศาลดังกล่าว ฎีกาของจำเลยจึงขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 วรรคหนึ่ง
           นอกจากนี้ แม้จำเลยจะอ้างว่าประสงค์จะฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแต่ในเมื่อจำเลยต้องอ้างอิงถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว ซึ่งศาลจะวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายได้ก็ต้องพิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่ว่านี้เสียก่อนว่าเป็นประการใด เพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยยกขึ้นฎีกา ฎีกาของจำเลยในลักษณะเช่นนี้จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาเพียงแต่แก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นว่า คำขอที่ให้บวกโทษของจำเลยให้ยกเสีย เป็นการแก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี จึงเป็นฎีกาที่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 วรรคหนึ่ง แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับฎีกาของจำเลยมาศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้