วันอังคารที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2559

อำนาจการสอบสวนเมื่อมีการจัดตั้ง สภ. แห่งใหม่

อำนาจการสอบสวนเมื่อมีการจัดตั้ง สภ. แห่งใหม่ มีดังนี้
              ๑.  สภ. ที่มีการจัดตั้งสถานีขึ้นใหม่มีหัวหน้าสถานีใหม่เป็น ผกก. มีอำนาจการสอบสวนคดีอาญานับแต่วันที่มีการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจไปดำรงตำแหน่งเนื่องจาก สภ. ดังกล่าวมีเขตอำนาจความรับผิดชอบหรือเขตพื้นที่การปกครองแล้วตามประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดหน่วยงานและเขตอำนาจการรับผิดชอบหรือเขตพื้นที่การปกครองของส่วนราชการ ประกอบกับคำสั่ง ตร.ที่ ๕๓๗/๒๕๕๕ ลง ๒๗ ก.ย.๒๕๕๕  เรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ของตำแหน่งในสถานีตำรวจ  ข้อ ๕.๑ กำหนดหน้าที่ หัวหน้าสถานีตำรวจทำหน้าที่หัวหน้าพนักงานสอบสวน
              ๒. สภ. แห่งเดิม จึงไม่มีอำนาจทำการสอบสวนความผิดที่เกิด เชื่อว่า หรืออ้างว่าได้เกิด ในเขตพื้นที่ของ สภ. ที่มีการจัดตั้งสถานีขึ้นใหม่โดยเด็ดขาด ดังนั้น สภ. แห่งเดิมจึงต้องส่งมอบสำนวนการสอบสวนซึ่งความผิดได้เกิด เชื่อว่า หรืออ้างว่าได้เกิดขึ้นในเขตพื้นที่ของ สภ. ที่มีการจัดตั้งขึ้นใหม่ และยังสอบสวนไม่เสร็จสิ้นไปให้ สภ. ที่มีการจัดตั้งขึ้นใหม่โดยเร็วที่สุด เพื่อทำการสอบสวนต่อไป เพราะเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ เนื่องจาก หัวหน้าพนักงานสอบสวนเป็นคนละคนกัน พนักงานสอบสวนในท้องที่เดิมจึงไม่อาจสอบสวนในคดีนั้นได้อีกต่อไป และหัวหน้าสถานีตำรวจเดิมก็ไม่อาจมอบหมายให้ทำการสอบสวนข้ามเขตกันได้อีก
               ๓.  ส่วนความผิดที่ได้เกิด เชื่อว่า หรืออ้างว่าได้เกิดขึ้นมาใหม่ ก็ให้ สภ. ที่มีการจัดตั้งขึ้นใหม่เป็นผู้รับผิดชอบทำการสอบสวนต่อไป ดังนั้น พนักงานสอบสวน สภ.แห่งใหม่ จะต้องทำหน้าที่รับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษ และดำเนินคดีตามกฎหมายทันทีที่ได้รับแจ้งเหตุในเขตอำนาจการสอบสวนของตน เพราะถ้าความผิดไม่ได้เกิดในเขตอำนาจของตนแล้ว ย่อมเป็นผลให้พนักงานสอบสวนจะไม่มีอำนาจสอบสวน หากยังดำเนินการสอบสวนต่อไปก็จะเป็นเหตุให้การสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย
               ๔.  เนื่องจาก สภ. แห่งใหม่ อาจจะยังไม่พร้อมที่จะรับคดีและรับผิดชอบทำการสอบสวนได้โดยลำพัง ผบก.ภ.จว. ซึ่งมีอำนาจบังคับบัญชาพนักงานสอบสวนทุก สภ. ในเขตจังหวัด ย่อมมีอำนาจพิจารณามอบหมายหรือแต่งตั้งให้พนักงานสอบสวนในสังกัดไปปฏิบัติราชการและเข้าร่วมสอบสวนในคดีเดิมได้ แต่ต้องให้หัวหน้าสถานีตำรวจแห่งใหม่ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ เป็นผู้ทำความเห็นทางคดี
                ๕.   สถานีแห่งใหม่อาจจะขาดแคลนวัสดุอุปกรณ์ไม่เพียงพอ งบประมาณที่ขาดแคลนและยังไม่ได้รับการจัดสรร เป็นต้น ผบก.ภ.จว. ควรต้องให้การช่วยเหลือสนับสนุนจัดหาวัสดุครุภัณฑ์สำนักงาน ตลอดจนเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ให้เสร็จสิ้นโดยเร็วและสามารถปฏิบัติงานได้ทันที
                ๖.  หน่วยงานราชการอื่นตลอดจนประชาชน ที่ยังไม่รับทราบเรื่องการกำหนดหน่วยงานและเขตอำนาจการรับผิดชอบหรือเขตพื้นที่การปกครองของส่วนราชการ ตามประกาศ ตร. และจะสับสนในการเดินทางไปแจ้งความร้องทุกข์หรือกล่าวโทษ หรือไม่ได้รับความสะดวกในการมาติดต่อราชการ ดังนั้น ข้าราชการตำรวจทุกนายจึงควรประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบด้วย

อ้างอิง
-  หนังสือ ตร.ที่๐๐๓๑.๒๑๒/๔๗๓๓ ลง ๑๗ ต.ค.๒๕๕๐ เรื่อง การสอบสวนคดีอาญาของ สภ.ต. ที่มีการปรับระดับตำแหน่งหัวหน้าสถานีใหม่เป็น สว.