วันศุกร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2558

อำนาจการสอบสวนโดยสมบูรณ์

            ในความเห็นของผู้เขียน การเป็นพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจสอบสวนโดยชอบด้วยกฎหมายได้โดยสมบูรณ์ จะต้องประกอบไปด้วยอำนาจ หน้าที่ ความรับผิดชอบ และคำสั่ง ดังมีรายละเอียดที่จะกล่าวต่อไปนี้

            1. ต้องมีอำนาจ
            ป.วิ.อ.
            มาตรา 18  ในจังหวัดอื่นนอกจากจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ปลัดอำเภอ และข้าราชการตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่านายร้อยตำรวจตรีขึ้นไป มีอำนาจสอบสวนความผิดอาญาซึ่งได้เกิด หรืออ้าง หรือเชื่อว่าได้เกิดภายในเขตอำนาจของตน หรือผู้ต้องหามีที่อยู่ หรือถูกจับภายในเขตอำนาจของตนได้
            สำหรับในจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี ให้ข้าราชการตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่านายร้อยตำรวจตรีขึ้นไป มีอำนาจสอบสวนความผิดอาญาซึ่งได้เกิดหรืออ้าง หรือเชื่อว่าได้เกิดภายในเขตอำนาจของตน หรือผู้ต้องหามีที่อยู่ หรือถูกจับภายในเขตอำนาจของตนได้
            ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติในมาตรา 19 มาตรา 20 และมาตรา 21 ความผิดอาญาได้เกิดในเขตอำนาจพนักงานสอบสวนคนใด โดยปกติให้เป็นหน้าที่พนักงานสอบสวนผู้นั้นเป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวนความผิดนั้นๆ เพื่อดำเนินคดี เว้นแต่เมื่อมีเหตุจำเป็นหรือเพื่อความสะดวก จึงให้พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ผู้ต้องหามีที่อยู่ หรือถูกจับเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการสอบสวน
           ในเขตท้องที่ใดมีพนักงานสอบสวนหลายคน การดำเนินการสอบสวนให้อยู่ในความรับผิดชอบของพนักงานสอบสวนผู้เป็นหัวหน้าในท้องที่นั้น หรือผู้รักษาการแทน
(*ข้อพิจารณา.-  มาตรา 18 พนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองหรือตำรวจมีอำนาจสอบสวนความผิดอาญาซึ่งได้เกิด หรืออ้าง หรือเชื่อว่าได้เกิดภายในเขตอำนาจของตน หรือผู้ต้องหามีที่อยู่ หรือถูกจับภายในเขตอำนาจของตนได้ ดังนั้น ถ้าความผิดอาญาเกิดนอกเขตอำนาจของตน ย่อมไม่มีอำนาจสอบสวน)

             2. ต้องมีหน้าที่
             ถ้าพนักงานสอบสวนมีอำนาจในการสอบสวนได้แล้ว ต้องเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่สอบสวนด้วย ยกตัวอย่างเช่น มีกฎกระทรวงกำหนดให้พนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองมีหน้าที่สอบสวนความผิดใดความผิดหนึ่งโดยเฉพาะเท่านั้นตามกฎกระทรวงกำหนดการสอบสวนความผิดอาญาบางประเภทในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานครโดยพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง พ.ศ.2554 และกฎกระทรวงกำหนดการสอบสวนความผิดอาญาบางประเภทในจังหวัดอื่นนอกจากกรุงเทพมหานครโดยพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง พ.ศ.2555 ฉบับที่ 2  ได้แก่
          “ข้อ 2 ความผิดอาญาตามกฎหมายดังต่อไปนี้ ให้พนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองสอบสวนได้
              (1) กฎหมายว่าด้วยกองอาสารักษาดินแดน
              (2) กฎหมายว่าด้วยการควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า
              (3) กฎหมายว่าด้วยการควบคุมการเรี่ยไร
              (4) กฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร
              (5) กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
              (6) กฎหมายว่าด้วยการศึกษาภาคบังคับ
              (7) กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข
              (8) กฎหมายว่าด้วยบัตรประจำตัวประชาชน
              (9) กฎหมายว่าด้วยภาษีบำรุงท้องที่
            (10) กฎหมายว่าด้วยภาษีป้าย
            (11) กฎหมายว่าด้วยภาษีโรงเรือนและที่ดิน
            (12) กฎหมายว่าด้วยยศและเครื่องแบบผู้บังคับบัญชาและเจ้าหน้าที่กองอาสารักษาดินแดน
            (13) กฎหมายว่าด้วยโรงรับจำนำ
            (14) กฎหมายว่าด้วยโรงแรม
            (15) กฎหมายว่าด้วยสัตว์พาหนะ
            (16) กฎหมายว่าด้วยสุสานและฌาปนสถาน
(*ข้อพิจารณา.-  ถ้าพนักงานสอบสวนไม่ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่สอบสวนคดีทั่วไป หรือมีกฎหมายให้มีหน้าที่สอบสวนเรื่องใดเป็นการเฉพาะแล้ว ย่อมไม่สามารถสอบสวนในเรื่องอื่นได้อีก)    

           3. ต้องมีความรับผิดชอบ
           ป.วิ.อ.
           มาตรา 19  ในกรณีดั่งต่อไปนี้
                (1) เป็นการไม่แน่ว่าการกระทำผิดอาญาได้กระทำในท้องที่ใดในระหว่างหลายท้องที่
                (2) เมื่อความผิดส่วนหนึ่งกระทำในท้องที่หนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งในอีกท้องที่หนึ่ง
                (3) เมื่อความผิดนั้นเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องกันในท้องที่ต่างๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไป
                (4) เมื่อเป็นความผิดซึ่งมีหลายกรรม กระทำลงในท้องที่ต่างๆ กัน
                (5) เมื่อความผิดเกิดขึ้นขณะผู้ต้องหากำลังเดินทาง        
                (6) เมื่อความผิดเกิดขึ้นขณะผู้เสียหายกำลังเดินทาง
          พนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้
          ในกรณีข้างต้นพนักงานสอบสวนต่อไปนี้ เป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวน
                (ก) ถ้าจับผู้ต้องหาได้แล้ว คือพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่จับได้อยู่ในเขตอำนาจ
                (ข) ถ้าจับผู้ต้องหายังไม่ได้ คือพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่พบการกระทำผิดก่อนอยู่ในเขตอำนาจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3466/2547
ป.วิ.อ. มาตรา 19, 120, 140, 141
             กรณีที่เป็นการไม่แน่ว่าการกระทำผิดอาญาได้กระทำในท้องที่ใดในระหว่างหลายท้องที่ พนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 วรรคสอง เมื่อข้อเท็จจริงยังฟังไม่ชัดแจ้งว่าเหตุในคดีนี้เกิดในท้องที่ใดแน่ ระหว่างอำเภอบัวใหญ่ กับอำเภอแก้งสนามนาง จังหวัดนครราชสีมา พนักงานสอบสวนท้องที่หนึ่งท้องที่ใดดังกล่าวย่อมมีอำนาจสอบสวนได้
            แต่ตามวรรคสาม (ก) ของมาตรา 19 ดังกล่าวระบุว่า พนักงานสอบสวนที่เป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวนคือพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่จับผู้ต้องหาได้อยู่ในเขตอำนาจ ดังนั้น เมื่อปรากฏว่า จำเลยถูกจับได้ที่อำเภอแก้งสนามนาง โดยมีสารวัตรสืบสวนสอบสวน สภ.อ.บัวใหญ่ กับเจ้าพนักงานตำรวจ สภ.อ.บัวใหญ่ อีกหลายนายเป็นผู้ร่วมจับกุม พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในคดีนี้ คือพนักงานสอบสวน สภ.อ.แก้งสนามนาง มิใช่พนักงานสอบสวน สภ.อ.บัวใหญ่
             เมื่อพนักงานสอบสวน สภ.อ.บัวใหญ่ ซึ่งมิใช่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ เป็นผู้สรุปสำนวนและทำความเห็นว่า ควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องจำเลยคดีนี้ แล้วส่งสำนวนเพื่อให้พนักงานอัยการพิจารณาตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 140 และ 141 ก็ถือไม่ได้ว่ามีการสอบสวนในความผิดนั้นโดยชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
(*ข้อพิจารณา.-  มาตรา 19 นอกจากพนักงานสอบสวนที่เกี่ยวข้องจะมีอำนาจสอบสวนแล้ว แต่ถ้าหากไม่ใช่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ก็ไม่มีอำนาจเป็นผู้สรุปสำนวนและทำความเห็นว่าควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง จึงถือไม่ได้ว่ามีการสอบสวน พนักงานอัยการย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง)

             4. ต้องมีคำสั่ง
             การสอบสวนในคดีใดคดีหนึ่ง ถ้าหัวหน้าพนักงานสอบสวนซึ่งเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่และเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ได้ออกคำสั่งให้พนักงานสอบสวนเฉพาะผู้ใดผู้หนึ่งทำการสอบสวนในคดีหนึ่งคดีใดเป็นการเฉพาะแล้ว พนักงานสอบสวนคนอื่นย่อมไม่มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการสอบสวนคดีนั้นอีก หากมีพนักงานสอบสวนผู้ใดที่ไม่ได้รับคำสั่งมากระทำการสอบสวนในคดีนั้นโดยนอกเหนือคำสั่งของหัวหน้าพนักงานสอบสวนแล้ว ย่อมมีผลให้การสอบสวนนั้นไม่สมบูรณ์เช่นกัน
             ดังนั้น การเป็นพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจสอบสวนโดยชอบด้วยกฎหมายโดยสมบูรณ์แบบและไม่ทำให้การสอบสวนนั้นเสียไป จึงสมควรต้องประกอบไปด้วยหลัก 4 ประการ คือ อำนาจ หน้าที่ ความรับผิดชอบ และคำสั่ง ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น